Fund Comment มกราคม 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มกราคม 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุประมาณ -1 ถึง -18 bps โดยที่ปิดตลาดวันที่ 31 ม.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.08% (-10 bps) และ 1.31% (-18 bps) ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สาเหตุหลักมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังมีสาเหตุมาจากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

ในช่วงต้นเดือน ม.ค. ตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ภายหลังสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศในอิรัก และสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกําลังนักรบคุดส์ ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษในต่างประเทศของกองกําลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านเมื่อวันที่ 3 ม.ค. และต่อมาในวันที่ 8 ม.ค. อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในอิรัก นักลงทุนจึงเกิดความกังวลว่าสถานการณ์จะบานปลาย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนคลายกังวลลง กอปรกับการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ Phase 1 ในวันที่ 15 ม.ค. โดยสหรัฐฯ จะลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ  เป็น 7.5% จากเดิม 15% ขณะที่จีนตกลงซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยนับจากนี้จะต้องติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาการค้าใน Phase 2 ต่อไป นอกจากนี้ รัฐสภาของสหราชอาณาจักรสามารถอนุมัติข้อตกลง Brexit ได้สำเร็จและออกจากยุโรปได้ตามกำหนดในวันที่ 31 ม.ค. โดยสหราชอาณาจักรมีเวลา 11 เดือนเพื่อเจรจารูปแบบความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพยุโรปก่อนที่ช่วงเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. นี้

ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 28-29 ม.ค. ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากที่ได้คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่แล้ว และปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้งในปี 2019 โดยแถลงการณ์ของ Fed ระบุว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสมต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังระบุว่าจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0%

ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินตามที่ตลาดคาดการณ์ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ม.ค. โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% และส่งสัญญาณคงหรือลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นและกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0%

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ในการประชุมเมื่อวันที่ 20-21 ม.ค. และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ซึ่งโดยรวมสะท้อนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักของโลก

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ. คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยสิ้นวันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับลดลงเพียง 2 bps จากวันก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.04% และ 1.29% ตามลำดับ เนื่องจากตลาดได้คาดการณ์ (Priced in) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 bps ไว้แล้ว

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะยังคงผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งหากการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างต่อเนื่องจะฉุดให้เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด แนวโน้มอุปทานพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Supply) หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้าออกไป รวมถึงประเด็นการกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก

ด้านการดำเนินนโยบายการเงินของไทย กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.0% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในระยะต่อไป