กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE)

สรุปภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก

ตลาดหุ้นโลกเริ่มต้นปีด้วยปัจจัยกดดันหลายปัจจัย ถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดีขึ้นในปลายปี 2562 แต่ปัจจัยเสี่ยงก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน และมีการตอบโต้ทางทหารระยะหนึ่ง ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนและแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคธุรกิจจีนและการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยผลกระทบของแต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนต่อประเทศนั้นๆ และมาตรการการควบคุมโรคระบาดในแต่ละประเทศ ตามมาด้วยสงครามราคาน้ำมันในช่วงต้นมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัย COVID-19 และ ราคาน้ำมัน เป็นปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มจะกดดันตลาดหุ้นโลกสักระยะหนึ่ง

สำหรับตลาดหุ้นจีน รัฐบาลจีนมีมาตรการที่เร่งด่วน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการขยายวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้เมื่อเปิดตลาดหุ้นจีนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างมาก โดยดัชนี Shanghai Composite Index (SSEC) ปิดตัวลดลง 7.72% จากราคาปิดของวันทำการก่อนหน้า (23 มกราคม 2563) แต่หลังจากนั้นตลาดหุ้นค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่ารัฐบาลจีนมีมาตรการที่ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเคร่งครัด และมีนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อลดผลกระทบต่อตลาดการเงิน เช่น ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 4.05% และ ดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีลง 0.05% สู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่ PBoC ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะกลางหรือ MLF ไปก่อนหน้านี้มาอยู่ที่ 3.15% และได้เสริมสภาพคล่องให้กับตลาดโดยกลางเดือนกุมภาพันธ์ PBoC อัดฉีดเงิน 1 แสนล้านหยวน เพื่อมุ่งรักษาสภาพคล่องในระบบการเงิน ในด้านนโยบายคลัง ผู้นำจีนได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการคลังในระหว่างการประชุม Politburo Standing Committee เมื่อวันที่ 3-12 ก.พ. ด้วย ในด้านผลกระทบของสงครามราคาน้ำมันต่อตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นจีนได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากเท่าตลาดอื่นๆ ในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป ด้วยตลาดหุ้นจีนมีสัดส่วนบริษัทที่เป็นกลุ่มน้ำมันน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ และ จีนเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก น่าจะได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ช้ากว่าตลาดหุ้นจีน โดยปลายเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในหลาย
ประเทศ ทั้งในสหรัฐฯ เอง และประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นอันดับสองรองจากจีน (ณ 9 มีนาคม 2563) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงเริ่มปรับตัวลงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามราคาน้ำมัน ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงปรับตัวลดลงอย่างมาก ตลาดคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวน

กลยุทธ์การลงทุนและมุมมองของผู้จัดการกองทุน

กองทนุเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE) เน้น ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศของบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์
จากแนวโน้มการบริโภคในอนาคต หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และหรือนวัตกรรมใหม่ ที่มีการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับแนวโน้มการบริโภค
การดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจในอนาคต

ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุนมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน 3.83% ในขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือนติดลบเล็กน้อย
ที่ -0.56% นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทุนมีการจ่ายเงินปันผลที่ 0.15 บาทต่อหน่วย รวมเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหน่วย
ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 0.41 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบัน กองทุน B-FUTURE ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ 2 กองทุน ได้แก่ Allianz Global Artificial Intelligence และ Fidelity Fund
–China Consumer ซึ่งข้อมูลการลงทุนและมุมมองจากผู้จัดการกองทุนทั้งสองกองทุน มีดังนี้

Allianz Global Artificial Intelligence (มีสัดส่วนการลงทุน 46.77%) เน้นลงทุนในบริษัทที่มีพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของปัญญาประดิษฐ์ (AI Infrastructure) แอปพลิเคชันที่ต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Application) และ ธุรกิจที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อพัฒนาด้านการผลิตหรือการให้บริการ (AI-enabled Industries) ผลการดำเนินงานในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 กองทุนให้ผลตอบแทน 11% อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยลบที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ผลการดำเนินงานของกองทุน ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุนมีผลการดำเนินงานติดลบ -2.91% ในช่วงที่ผ่านมา

ผู้จัดการกองทุน ได้ปรับพอร์ตโดยการขายทำกำไรในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นมาจนถึงระดับราคาเป้าหมายแล้ว โดยน้ำหนักในหุ้นกลุ่มเซมิคอนดัคเตอร์ ลดลงจาก 25% ในเดือนธันวาคม 2562 เป็น 18% และ 10% ในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตามลำดับ และเพิ่มน้ำหนักในกลุ่ม AI Application มากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจ Software and Service (เพิ่มจาก 36% ในเดือนธันวาคม 2562 เป็นกว่า 40% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563) และ Healthcare (เพิ่มจาก 4% ในเดือนธันวาคม 2562 เป็น 7% เดือนกุมภาพันธ์ 2563) ซึ่งผู้จัดการกองทุนเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดการผลิตบางส่วนหรือห่วงโซ่อุปทานน้อยกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุนเพิ่มการถือครองเงินสด เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ผู้จัดการกองทุนมองว่าความผันผวนจาก COVID-19 เป็นความผันผวนในระยะสั้น ที่กระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มจะออกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อลดผลกระทบนี้ ซึ่งที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ออกมาอย่างรวดเร็วและชัดเจน จะยิ่งทำให้ผลกระทบนี้ไม่ยาวนานนัก อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมากต่อแนวคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ว่าเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ลงทุนได้ เป็นอันดับต้นๆ โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นในระยะยาว การพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และมีโอกาสเติบโตได้อีกมากทั้งในเชิงพาณิชย์ และการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนต่อไป โดยผู้จัดการกองทุนจะเลือกหุ้นอย่างระมัดระวังและใช้โอกาสนี้ลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดี เพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้นในระยะยาว

Fidelity Funds – China Consumer Fund (มีสัดส่วนการลงทุน 34.08%) เน้นลงทุนในการหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีน (New China) เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในจีน เป็นต้น

ณ 31 มกราคม 2563 ผลการดำเนินงานของกองทุนย้อนหลัง 12 เดือน 7.7% ในขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 เดือน กองทุนมีผลตอบแทนติดลบ -4.6% เป็นผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งกองทุนมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 16% เป็นอันดับที่ 3 รองจาก Consumer Discretionary (31%) และ Communication Service (24%) กลุ่มสถาบันการเงินได้รับแรงกดดันจากการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน (PBoC) และ สภาวการณ์ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ในขณะที่กลุ่ม Communication และ Health Care เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกตั้งแต่ต้นปี

ผู้จัดการกองทุนเน้นการคัดเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว พิจารณาจากมูลค่ากิจการเป็นสำคัญ โดยมีมุมมองบวก
กับบางบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินที่มีการขยายการดำเนินธุรกิจ บริษัทด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่พัฒนาสินค้าไปสู่ตลาดที่มีพรีเมี่ยม
มากขึ้น และยังคงให้น้ำหนักในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการบริโภคของจีนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ กองทุน B-FUTURE ยังมีส่วนที่กองทุนลงทุนตรงในหุ้นต่างประเทศโดยตรงตามธีมการลงทุน ประมาณ 16.8% ซึ่งผู้จัดการกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นเกี่ยวกับการบริโภคในประเทศจีน โดยเฉพาะการบริโภคที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น และให้น้ำหนักภาคบริการมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิต เช่น บริษัทที่เกี่ยวกับการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนขายทำกำไรบางส่วนในบริษัทที่เกี่ยวข้องการขนส่ง และลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่ราคาปรับตัวลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

สัดส่วนการลงทุนของกองทุน B-FUTURE ณ 31 มกราคม 2563

ตัวอย่างหุ้นในพอร์ตการลงทุนของกองทุน B-FUTURE

  • ZTO Express บริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่ของจีน มีจุดเด่นที่ได้เปรียบคู่แข่งด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และการที่มี
    ศูนย์กระจายสินค้าเยอะที่สุด ทำให้ได้เปรียบเรื่องการจัดส่ง แม้ในช่วงที่มี COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมขนส่งได้รับผลกระทบจากการ
    ชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้บริโภคกลับมาสั่งสินค้าอุปโภค
    บริโภคมากขึ้น เพราะสินค้าที่เคยกักตุนไว้ลดลง จนทำให้เกิดปัญหาคอขวด หรือการส่งสินค้าไม่ทันความต้องการ จากการหยุดผลิต
    สินค้าช่วงที่มีโรคระบาด และเจ้าหน้าที่ขนส่งบางส่วนต้องถูกกักตัวเพื่อป้องกันการระบาด อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในธุรกิจ
    ขนส่งแล้ว ZTO ยังเป็นบริษัทที่นักลงทุนสนใจมากที่สุด เพราะสามารถทนต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากที่สุด และมองว่าผลกระทบ
    ด้านลบต่อ ZTO จะมีไม่มากนักและเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ตั้งแต่ต้นปี ราคาหุ้นของ ZTO ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17% (ข้อมูล ณ 11 มีนาคม 2563)
  • Lululemon Athletica Inc. บริษัทสัญชาติแคนนาดา ผู้ออกแบบ ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังกายภายใต้แบรนด์ Lululemon และ ivivva จุดเด่นของ LULU คือ การขยายผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่องและมีความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นสินค้าพรีเมี่ยม จากที่รู้จักกันดีในชุดโยคะและอุปกรณ์โยคะ LULU เพิ่มชุดออกกำลังกายอื่นๆ สำหรับผู้หญิงด้วย เช่น ชุดเทนนิส ชุดว่ายน้ำ และชุดออกกำลังกายในร่ม เป็นต้น โดยยังคงเน้นการออกแบบที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีของเนื้อผ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน และ LULU ยังเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ด้วยชุดออกกำลังสำหรับผู้ชาย ซึ่งมียอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ LULU มีช่องทางซื้อขายออนไลน์ที่แข็งแกร่งทั้งในสหรัฐและนอกประเทศ สัดส่วนยอดขายออนไลน์ คิดเป็น 58% ของยอดขายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม
    จาก COVID-19 LULU อาจได้รับผลกระทบด้านการผลิตที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ผลิตจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    เอเชียใต้ และประเทศจีน ในสัดส่วน 58% 21% และ12% ตามลำดับ

ผลการดำเนินงานกองทุนย้อนหลัง (ข้อมูลเดือน 28 ก.พ. 2563)

ประวัติการจ่ายเงินปันผล

หมายเหตุ : ใช้เผยแพร่ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563 ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง