ทำอย่างไรในสถานการณ์นี้

ทำอย่างไรในสถานการณ์นี้

โดย…วศิน วัฒนวรกิจกุล

กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution

กองทุนบัวหลวง

18 มีนาคม 2563

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวลงอย่างมาก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยทำให้หุ้นรายตัว กองทุนหุ้น กองทุนผสมที่มีการลงทุนในหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุน และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ปรับลดลงหมด ในอัตรามากน้อยต่างกัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มาตรการป้องกันและรับมือ รวมทั้งการประกาศลดราคาน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ทำให้ตลาดการเงิน รวมถึงธุรกิจทั่วโลก เกิดความปั่นป่วน

ส่งผลให้นักลงทุนก็ท้องไส้ปั่นป่วนไม่แพ้กัน เพราะเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือกองทุนต่างๆ ล้วน ลดลง ลดลง และลดลง อีกทั้งยังไม่มีทีท่าที่จะดีในระยะเวลานี้

นักลงทุนหลายคนเกิดความวิตกกังวลและเต็มไปด้วยคำถาม ซึ่งคำถามที่ผมเจอมักจะหนีไม่พ้นคำถามเหล่านี้

“หุ้นจะตกไปอีกไหม?” 

“กองทุนราคาจะตกไปอีกไหม? 

“ตลาดอยู่ในจุดต่ำสุดหรือยัง?” 

“ตลาดจะขึ้นเมื่อไหร่?” 

“ควรทำอย่างไรต่อไปดี?” 

หรือบางคนอาจจะคิดไปมากจนถึงขั้นสิ้นหวังกับการลงทุนเลยก็เป็นได้

หากมองไปแล้ว เราจะเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน มีทั้งข้อเท็จจริง เช่น ตลาดหุ้น กองทุน ปรับลดลงไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และอารมณ์ ความรู้สึกของคนที่มีต่อสถานการณ์ ซึ่งจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากในภาวะนี้

ย้อนกลับไป ตลาดหุ้นทั่วโลกก็เคยตกต่ำไปมาก เช่น วิกฤติซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) ในปี 2008 หรือย้อนกลับไปอีกหน่อยก็ วิกฤติต้มยำกุ้ง (Asian Financial Crisis) ของบ้านเราที่เกิดขึ้นในปี 1997 จริงอยู่ที่สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวนั้น มีเหตุผล ที่มาที่ไป แตกต่างกันมากกับวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 ในปัจจุบัน

แต่หากพิจารณาในด้านอารมณ์ ความรู้สึก ของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์ ตลอดถึงพฤติกรรมของผู้ลงทุน (Investor Behavior) อาจจะไม่ต่างกัน คือ ปั่นป่วน กังวล (มากๆ) ในขณะที่บางคนถึงขั้นรู้สึกสิ้นหวัง ซึ่งพฤติกรรมของผู้ลงทุนในช่วงนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการตอบสนองด้วยอารมณ์ ความรู้สึกที่มากเกินไป ต่อข้อมูลและสถานการณ์ (Overreact)

หากจะตอบคำถามว่า ควรทำอย่างไรดี

ผมอยากบอกว่า ทุกคนมีทางเลือก 3 ทาง ดังนี้

  • รอ (Hold) ไม่ด่วนตัดสินใจทำอะไรในภาวะที่ฝุ่นตลบ เพราะเชื่อว่า เมื่อทุกอย่างผ่านไป ตลาดจะปรับตัวกลับมาเป็นปกติ ถึงแม้อาจจะไม่ดีเท่าอย่างเดิม แต่ก็ไม่กล้า หรือไม่ต้องการที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเองแล้ว ในส่วนที่ขาดทุน ก็เกิดขึ้นไปแล้ว
  • ซื้อ (Buy) เมื่อเห็นเป็นโอกาส เพราะเชื่อว่า ตลาดตอบสนองมากเกินไป ต่อข้อมูล และสถานการณ์ (Overreact) การลงทุนในช่วงนี้ น่าจะเป็นโอกาสดี Dividend Yield คุ้มค่า และไม่มีทางเลือกการลงทุนอื่นมากนัก  สามารถรับความเสี่ยงได้ทั้งด้านการเงินและความรู้สึก ลงทุนได้ยาว ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ต้องพิจารณา
  • ขาย (Sell) เพื่อหยุดขาดทุน เพราะทนไม่ไหว ทั้งด้านการเงินและความรู้สึก หากตลาดลงต่อไป หรือเหตุการณ์ยังคงยืดยาว อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการเงินจนแบกรับไม่ไหว  แต่ก็ต้องทำใจให้ได้ว่า เมื่อได้ตัดสินใจขายไปแล้ว ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร จะขึ้นหรือลง ตนเองต้องไม่เสียดาย

สำหรับคนที่มีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Averaging: DCA) ต้องใช้ความอดทน ไม่ต้องกังวลใจ ไม่หวั่นไหวถึงแม้สถานการณ์จะรุมเร้า จงเดินหน้าตามแผนการลงทุนที่ตั้งใจ (Stick with the investment plan) ต่อไปนะครับ ตลาดช่วงนี้เป็นช่วงที่จะได้ราคาถูก ค่อยๆ เก็บสะสมไป ถือไปยาวๆ

ในภาวะแบบนี้ที่ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ในภายหน้าจะเป็นอย่างไร  ถ้าถามว่าผมแนะนำ หรือตัดสินใจอย่างไร ผมขอตอบว่า ผมเลือกที่จะ “รอ” … รอให้ฝุ่นควันหายตลบ จนภาพและสถานการณ์ต่างๆ มันชัดเจนกว่านี้ แล้วค่อยปรับพอร์ตการลงทุน (ค่อยๆ เลือกเฟ้นเก็บของดีราคาไม่แพง) ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของผมต่อไปครับ

นักลงทุนที่เลือกวิธี “รอ” หรือ “ซื้อ” ก็ต้องมั่นใจพอนะครับ ว่าเราจะไม่เดือดร้อนทางการเงิน และวางแผนไว้ว่า สามารถลงทุนยาว เพื่อให้มันข้ามช่วงวุ่นวาย และผลกระทบต่างๆ ไปได้ ไม่น้อยกว่า 3 ปี เผื่อว่าสิ่งที่เราคาด หรือหวังไว้ อาจจะไม่เป็น หรืออาจมาไม่เร็วอย่างที่ใจคิด

ผมเชื่อว่า เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกันได้ ด้วยใจที่นิ่ง และอดทนพอ ครับ