เซอร์กิต-เบรกเกอร์ วิกฤตหรือโอกาสในการลงทุน

โดย     พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

 

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา นักลงทุนหลายคนได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของปรากฎการณ์ เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) ซึ่งเป็นการพักการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทย ชั่วคราว เป็นเวลา 30 นาที  หลังจากดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 10% ฟังดูเรื่องราวใหญ่โตมาก ความจริงเป็นอย่างไรวันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง

ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทำการมา 44 ปี  เมื่อเดือน มีนาคม 2563 ถือเป็นปรากฎการณ์ เซอร์กิต เบรกเกอร์ ที่มีการใช้มาตรการนี้ติดต่อกัน 2 วัน นับเป็นครั้งที่ 4 และ 5 ของประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทย ซึ่งห่างจากครั้งที่ 3 มาประมาณ 12 ปี ทำให้นักลงทุนค่อนข้างตกใจกันมาก เพราะสำหรับนักลงทุนบางท่านนี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรก โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงเทขายเพราะความกังวลใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19  หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศว่า COVID-19 คือ การระบาดระดับโลก ประกอบกับสภาพโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยทรงๆ อยู่แล้วจากปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง

(***หมายเหตุ : ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับปรุงเกณฑ์การหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ เป็นการชั่วคราวแตกต่างไปจากข้อมูลนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และไม่เกิน 30 มิถุนายน 2563)

นักลงทุนอาจจะเริ่มมีคำถามหลังผ่านเหตุการณ์นี้มาว่า ควรขายคืนหน่วยลงทุนออกมาทั้งหมดเลย หรือควรลงทุนต่อไปดี

ก่อนอื่น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตลาดหุ้นมีขึ้น-ลงแบบนี้เป็นปกติธรรมดา ที่ผ่านมาทุกๆ 8 – 10 ปี ก็มักจะมีเหตุการณ์แบบนี้ วนมาทดสอบความอดทนของนักลงทุนอยู่เสมอ  ถ้าถามนักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนก็จะทราบว่า  เหตุการณ์นี้มองดูผิวเผินก็อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤต  แต่เชื่อไหมว่า ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ได้ซื้อของถูก เพราะหุ้นรายตัว หรือกองทุนหุ้นหลายกองทุนราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น ถ้าหากไม่ได้มีโครงการใช้เงินในช่วง 2 – 3 ปีนี้ ขอแนะนำให้อดทนถือต่อ และหากมีเงินพอที่จะลงทุนเพิ่มก็ซื้อเพิ่ม เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน

ในส่วนของผู้ที่กำลังสนใจลงทุนในกองทุนรวมนั้น สถานการณ์ช่วงนี้  กองทุนรวมหุ้นไทยน่าสนใจที่สุด  สำหรับผู้ลงทุนที่มีเงินสภาพคล่องสำรองไว้เพียงพอแล้ว 3 – 6 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยเงินส่วนที่เกินมาแนะนำให้ทยอยลงทุนในกองทุนหุ้นชื่อว่า “บัวแก้ว” ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ประมาณ 20 – 30 ตัว กระจายตัวในทุกหมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ กองทุนเปิดบัวแก้ว (BKA) กองทุนเปิดบัวแก้ว 2 (ฺBKA2) กองทุนเปิดบัวแก้วปันผล (BKD) สามารถทยอยลงทุนได้ขั้นต่ำ 500 บาทเท่านั้น เมื่อลงทุนแล้วก็ทำใจสบายๆ ให้เวลาเยียวยาทุกสิ่งไปสัก 2 – 3 ปี   คาดว่านักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ  

นอกจากนี้ หากนักลงทุนต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่ไปกับโอกาสจากการลงทุนในกองทุนหุ้นด้วย ก็สามารถลงทุนผ่าน กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม (BEQSSF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เฉพาะวงเงินพิเศษ ไม่เกิน 200,000 บาท ได้

ทั้งนี้ การรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 จะต้องลงทุนใน BEQSSF ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น โดยจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนกองทุน BEQSSF ในช่วงเวลาที่กล่าวมานี้ จะถูกนับแยกออกจากวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุน กองทุน SSF ปกติ และไม่ได้นำไปนับรวมกับวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุนเพื่อวางแผนเกษียณ โดยกำหนดวงเงินลงทุนไว้ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ในระยะแรก ยังไม่เปิดให้บริการสับเปลี่ยนหรือโอนหน่วยลงทุน และเมื่อเปิดให้บริการสับเปลี่ยนหรือโอน จะสับเปลี่ยนหรือโอนได้เฉพาะกองทุน SSF ที่มีนโยบาย การลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) หรือเป็นไปตามประกาศในอนาคต