เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 2/5

เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 2/5

โดย วรวรรณ ธาราราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด

(กองทุนบัวหลวง)

กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) จัดตั้งมาตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2557 ปีนี้ก็ 5 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 6แล้ว โดย BKIND เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่ผ่านเกณฑ์ ESG ของ บลจ.บัวหลวง (E คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม / S คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม / G คือ การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน)

กองทุนนี้ นอกจากจะลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังมอบผลตอบแทนทางใจอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย เพราะ BKIND แบ่งรายได้จากค่าจัดการกองทุนถึง 40% ไปบริจาคให้โครงการที่จะส่งผลดีโดยตรงต่อสังคม และต่อพวกเราโดยทางอ้อม

ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ถึงเดือน ม.ค.2563) เรามอบเงินค่าจัดการกองทุน 40% หรือกว่า 40 ล้านบาท ไปสนับสนุน 53 โครงการ ในทุกภูมิภาคของไทย

ผู้ลงทุนอาจจะมีคำถามว่า เงินบริจาคจาก BKIND ไปช่วยเหลืออะไรให้กับสังคมเราไปแล้วบ้าง?

ในโอกาสนี้ เราขอหยิบยกโครงการบางส่วนที่ BKIND เข้าไปมีส่วนร่วม มาเล่าสู่กันฟัง

ทั้งนี้ จะนำเสนอโดยแบ่งตามความช่วยเหลือในด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชน การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพ ผู้สูงอายุ เด็กพิเศษ คนพิการ เมืองและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเกษตร สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไกการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม และการต่อต้านคอร์รัปชัน

โดยในตอนที่ 2 นี้ เราขอนำเสนอข้อมูลโครงการที่ BKIND เข้าไปมีส่วนสนับสนุน ด้านการศึกษาเรียนรู้ และสุขภาพ ดังนี้

การศึกษาเรียนรู้

  • นักเรียนระดับ ม.ต้น 200 คน ในโรงเรียนห่างไกล เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จนมีผลการเรียนวิชาวิทย์-คณิต และผลสอบ O-NET ดีขึ้น ด้วยการได้ใช้สื่อดิจิทัลเสริมการเรียนวิทย์-คณิต ซึ่งออกแบบให้ปรับเนื้อหาตามระดับความเข้าใจของผู้เรียนแต่ละคน จนมีผลการเรียนดีขึ้น 1.13 – 8.83% จากผลการสอบประจำภาคเรียน ขณะที่ ครูและโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา เริ่มตื่นตัวและสนใจเรียนรู้การพัฒนาเด็กให้มีปัญญาเรียนรู้ถึงภายในตัวเอง ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาหลักสูตรจิตศึกษาจากโรงเรียนลำปายมาศพัฒนาซึ่งเป็นโรงเรียนจิตศึกษาต้นแบบ ซึ่งก็พบว่ามี 3 โรงเรียนได้นำหลักสูตรจิตศึกษาไปใช้โดยสมบูรณ์ อีก 3 โรงเรียนนำไปใช้บางส่วน (โครงการขยายโรงเรียนจิตศึกษาต้นแบบ)
  • นักเรียนและเด็กด้อยโอกาสสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การประกอบอาชีพ อันเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาชีวิตให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจน ผ่านการจัดตั้งห้องเรียน MEP (Mini English Program) (โครงการโรงเรียนเยาววิทย์)
  • โรงเรียน 7 โรงเรียนใน จ.นครราชสีมา พัฒนาแนวคิดและวิธีการจัดการเรียนการสอนเป็นโรงเรียนจิตศึกษา ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์และการพัฒนาทางจิตใจอย่างรอบด้าน ควบคู่ไปกับวิชาการ และบางโรงเรียนพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น (โครงการขยายผลโรงเรียนจิตศึกษา ปีที่สอง)
  • เกิดกลไกสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยในพื้นที่ห่างไกล 245 คนได้ฟังการอ่านหนังสือเฉลี่ยคน 500 เล่ม โดยมีการวิจัยผลการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ รับรองว่าทำให้มีสมาธิยาวขึ้น มีความคุ้นเคยและชอบการอ่าน เป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพ ใน จ.ลำปาง จ.สุรินทร์ และ จ.กาฬสินธุ์ (โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง)
  • เกิดเครื่องมือการเรียนรู้ด้านเพศศึกษาแบบเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในรูปแบบเกมบน Smartphone ครอบคลุมประเด็นทั้งด้านโรคติดต่อ การตั้งครรภ์ และเพศสภาวะ / เพศวิถี เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เล่นเยาวชนทั้งหญิงและชาย จำนวน 696,280 คน (โครงการพัฒนาเกมดิจิทัลพื่อการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชน)
  • เกิดบทเรียนแนะแนวที่สนับสนุนครูที่ทำหน้าที่ครูแนะแนว 22 คน ในโรงเรียนที่ขาดแคลนครูแนะแนวโดยตรง ให้สามารถสอนเนื้อหาแนะแนวที่เน้นการพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้านสำหรับนักเรียน 5,303 คน (โครงการพัฒนาหลักสูตรและระบบการแนะแนวอาชีพสำหรับนักเรียนที่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อค้นพบตัวเอง)

สุขภาพ

  • ผู้ป่วยใบหน้างวงช้าง 1 ราย และผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ 6 ราย ซึ่งมีความยากจน ได้รับการผ่าตัดเพื่อช่วยให้สามารถมีชีวิตที่ปกติได้ (โครงการ Operation Smile)
  • ผู้พิการที่ยากไร้ 5 คน ได้รับแขนขาเทียม สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ (โครงการกายอุปกรณ์)
  • ชาวบ้าน 2,475 คนที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลและยากไร้ ได้รับการบริการด้านสุขภาพและทันตกรรม ช่วยให้บรรเทาความเจ็บป่วย สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ (โครงการหมอน้ำเงินขาวช่วยชาวบ้าน)
  • ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้พิการทางสมอง 330 คน ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ บรรเทาอาการเจ็บป่วย มีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจดีขึ้น ส่วนอาจารย์ นักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ สมาชิกครอบครัวของผู้ป่วย และอาสาสมัคร 451 คน ที่ฝึกฝนความรู้และทักษะในการเป็นนักกิจกรรมบำบัด สามารถให้บริการประชาชนที่มีความต้องการในพื้นที่ของตนเอง (โครงการจิตอาสากิจกรรมบำบัด)
  • เกิดต้นแบบกลไกการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่สามารถดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลระดับอำเภอได้ 416 คนใน จ.ลพบุรี และมีศักยภาพที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน (โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน)
  • ขยายกลไกการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงแบบผสมผสานระหว่างการดูแลที่บ้านกับการดูแลที่ศูนย์บริบาลฟื้นฟู สามารถดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลระดับอำเภอได้ 839 คน ใน จ.ลพบุรี และมีศักยภาพที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน (โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน)
  • สนับสนุนแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้อง ที่ประชาชนสามารถสืบค้นและใช้ประโยชน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีความน่าเชื่อถือและครบถ้วน พร้อมต่อยอดผ่านสื่อใหม่ต่างๆ เช่น แอปพลิเคชันบนโซเชียลมีเดีย เข้าถึงคนทั่วไป 613,223 คน (โครงการพัฒนาต่อยอดระบบยากับคุณเพื่อประชาชน)

สำหรับโครงการด้านอื่นๆ จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามได้ในครั้งถัดไป