กองทุนที่เกาะติดเทรนด์โลก ตอน สุขภาพ

กองทุนที่เกาะติดเทรนด์โลก ตอน สุขภาพ

โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก ผู้ลงทุนให้ความสนใจกับการลงทุนในกองทุนรวมซึ่งลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพมากขึ้น ซึ่งกองทุนบัวหลวง ก็มี กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF) ที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ อันเป็นธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในเทรนด์โลก โดยเป็นการลงทุนผ่านกองทุนหลัก Wellington Global Health Care Equity Portfolio

ทั้งนี้ กองทุนหลักของ BCARE ลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีสุขภาพประมาณกว่า 30% จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563 โดยเดิมทีในการลงทุนธีมธุรกิจสุขภาพของกองทุนหลักมีการแบ่งย่อยอยู่หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ บริษัทยา บริษัทวิจัย หรือบริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล สถานดูแล ต่อมาบริษัทต่างๆ ในธุรกิจสุขภาพมีการควบรวมกัน โดยบริษัทยาขนาดใหญ่ หลังจากที่สิทธิบัตรยาเดิมเริ่มหมดลง ก็เริ่มมีการไปซื้อบริษัทค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ จนกลายเป็นกลุ่มไบโอฟาร์มา ทำให้ในกลุ่มสุขภาพมีการรวมตัวและถูกแบ่งหมวดหมู่ใหม่เป็น บริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

ล่าสุดกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลายเป็นกลุ่มที่มีธีมชัดเจนและกองทุนหลักมีการแยกกลุ่มออกมา สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงว่าเทคโนโลยีและกลุ่มสุขภาพไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ปัจจุบันเป็นกลุ่มที่เด่นชัดมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นเป็น 100 ปี อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นกลุ่มที่ทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นสุขภาพอย่าง BCARE ได้รับความสนใจยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทีมงานกองทุนบัวหลวงได้พูดคุยกับผู้จัดการกองทุนหลัก ใน 2 ประเด็นหลัก คือ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทยา หรือธุรกิจต่างๆ ของบริษัทยาทั่วโลก ได้รับประโยชน์อย่างไร และการลงทุนของกองทุนหลัก ให้น้ำหนักการลงทุนในธุรกิจสุขภาพกลุ่มต่างๆ อย่างไรบ้าง

เริ่มกันที่เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับธุรกิจยาก่อน โดยผู้จัดการกองทุนหลักมองว่า กระแสข่าวที่ออกมาวา ค้นพบยารักษาแล้ว เป็นเพียงแค่การเล่นข่าว เพราะในความเป็นจริงแล้วการค้นคว้ายาแต่ละชนิดต้องใช้ระยะเวลา ใช้ความมั่นใจมากว่า เมื่อถึงเวลาแล้วนำไปใช้กับผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับผลกระทบแบบไหนบ้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลข้างเคียงน้อยที่สุด

กรณีที่มีข่าวออกมาเกี่ยวกับยาต่างๆ ในตอนนี้ เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ผลิตในญี่ปุ่นและพัฒนาโดยจีน ก็ถือเป็นยาที่มีอยู่แล้ว หรือว่าทางฝั่งยุโรป อเมริกา ก็มียาอีกตัวคือ คลอโรควิน ซึ่งมีอยู่แล้วและตัดสินใจนำมาใช้กับการรักษาผู้ที่เป็นโควิด-19 และได้ผลดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นการนำยาที่มีอยู่แล้วมาใช้จัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องเผชิญ จึงจำเป็นต้องนำมาทดลองใช้ เพราะยาเหล่านี้ก็ถูกใช้จัดการกับไวรัสต่างๆ อยู่แล้ว ก็ถือเป็นข่าวในเชิงบวกที่ถูกนำมาเล่น แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะผ่านกระบวนการอนุมัติให้นำมาใช้ได้กับทุกคนที่เป็นโควิด-19

สำหรับการพัฒนายารักษาจะต้องมีการทดลองกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจนมั่นใจแล้วว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้างก่อน แล้วนำมาทดลองกับคน ซึ่งในการทดลองกับคนนั้น ก็จะมีรายละเอียดอีกว่า ใช้กับผู้ชาย ผู้หญิง บุคคลอายุมาก หรืออายุน้อย หรือคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ จะเป็นอย่างไร โดยรวมแล้วรายละเอียดมีมากกว่าจะได้มีการอนุมัติยาออกมาจริงๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดการกองทุนของ Wellington Global Health Care Equity Portfolio ซึ่งพูดคุยกับบริษัทยาต่างๆ ทำงานด้านนี้มาเชิงลึกมา 20-30 ปี จึงไม่เชื่อว่า ตัวยาที่จะนำมาใช้จริงจะอนุมัติออกมาได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ เพียงแต่อาจจะมียาที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันไปก่อน

ในแง่วัคซีน ใช้เวลานานมากกว่ายา ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตวัคซีนแต่ละตัวโดยเฉลี่ยใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่ไม่เร็ว ทั้งนี้ ก็เพราะเชื้อบางอย่างมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงวัคซีนอย่างต่อเนื่องตามสายพันธุ์ของเชื้อที่พัฒนาไป เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เราเห็นในท้องตลาด มีวัคซีนที่ฉีดป้องกัน 4 สายพันธุ์ หรือ 6 สายพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนจะไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะต้องขึ้นอยู่ด้วยว่าได้รับเชื้อสายพันธุ์ใดเข้าไป ขณะที่โควิด-19 ก็มีรายงานข่าวว่าเชื้อมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย ผู้ที่เป็นแล้วยังสามารถเป็นอีกได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการพัฒนาวัคซีน

ทั้งนี้ 10 ปีที่ผ่านมา ทุกบริษัทพยายามผลิตวัคซีนต่างๆ ออกมา โดยแต่ละบริษัทก็ค้นคว้าในแนวทางของตัวเอง ไม่ได้มาแบ่งปันข้อมูลกัน เพราะเป็นเรื่องธุรกิจ ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะหาสารตั้งต้นได้ แต่ปัจจุบันมีข้อดีคือ ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกมีการร่วมมือกันมากขึ้น โดยมีองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เป็นตัวกลางประสานงานในการแบ่งปันข้อมูล เพราะฉะนั้นบริษัทที่ค้นคว้าวิจัยโควิด-19 มีการแบ่งปันข้อมูลกันผ่าน WHO ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ร่นระยะเวลาในการพัฒนาแต่ละขั้นตอนลงมา จึงคาดหวังได้ว่าความร่วมมือนี้จะทำให้ค้นพบวัคซีนโควิด-19 ได้เร็วขึ้นกว่าในอดีต แต่ด้วยกระบวนการ วิธีการ และความไม่ธรรมดาของเชื้อโควิด-19 จึงทำให้ต้องใช้เวลานานแน่นอน ส่วนข่าวที่ออกมาเรื่องการค้นพบวัคซีน ก็คล้ายกับเรื่องยา คือ ที่มีประเด็นบวกเพียงเล็กน้อย ซึ่งสื่อนำมาเผยแพร่ให้ทราบเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความสนใจเรื่องโควิด-19 ในเวลานี้

นอกเหนือจากประเด็นโควิด-19 การลงทุนในกลุ่มสุขภาพของกองทุนหลัก มีปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งแง่บวกและแง่ลบ

ในแง่บวก เช่น การลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีสุขภาพ ได้รับผลดีจากการที่ในช่วงที่ผ่านมามีการรักษาทางไกลผ่านเทเลเมดิคัลมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทที่ทำด้านนี้จะดีขึ้นทั้งหมด เพราะบางประเทศยอมรับเรื่องการใช้เทเลเมดิคัล แต่บางประเทศก็ยังไม่ยอมรับการรักษาแบบนี้ แต่ก็ถือเป็นแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพที่ก้าวหน้า หรือการใช้หุ่นยนต์ในการรักษา ก็มีพัฒนาที่ดีเช่นกัน

ส่วนในแง่ลบ ในส่วนที่กองทุนหลักเข้าไปลงทุน จะพบว่า Wellington Global Health Care Equity Portfolio ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไบโอฟาร์มาขนาดกลางและขนาดเล็ก มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และให้น้ำหนักกับกลุ่มเทคโนโลยีสุขภาพมากกว่า แต่ด้วยเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีความไม่แน่นอนและความผันผวนในตลาดมาก ทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพ นิยมไปลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีการจ่ายปันผลที่ดีมากกว่าเพื่อความปลอดภัยซึ่งกองทุนลดน้ำหนักการลงทุนอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนหลักต่ำกว่า ดัชนีชี้วัดไปบ้าง

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ เช่น สถานพยาบาล สถานดูแลต่างๆ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดเช่นกัน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในยุโรปจนทำให้สถานพยาบาลต่างๆ ตั้งตัวไม่ทัน ระบบการจัดการ กระบวนการต่างๆ อาจส่งผลให้งบในช่วงสั้นๆ หรือกำไรสะท้อนตัวเลขที่ไม่สวยงามมากนัก เพราะเป็นช่วงของความวุ่นวาย ถือเป็นปัจจัยลบช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มสุขภาพ

โดยภาพรวมแล้วกลุ่มสุขภาพ ยังถือเป็นกลุ่มสำคัญ โดยเฉพาะ ยา ที่เป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต จึงถือเป็นเมกะเทรนด์ที่อยู่กับผู้ลงทุนไปอีกนาน ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพอย่าง BCARE ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่นักลงทุนพิจารณาให้น้ำหนักการลงทุนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องนำเงินทั้งหมดมาลงทุน เพราะการกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยังเป็นสิ่งสำคัญ เพียงแต่กลุ่มเทคโนโลยีและสุขภาพยังอยู่ในเทรนด์ที่การลงทุนไม่อาจเพิกเฉยได้ ควรจะมีติดพอร์ตลงทุนไว้ด้วย