E “S” G ก้าวข้ามวิกฤติไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

E “S” G ก้าวข้ามวิกฤติไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

โดย…ศิรารัตน์ อรุณจิตต์

กองทุนบัวหลวง

เป็นเวลากว่าห้าเดือนแล้วที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เริ่มต้นขึ้น จนตอนนี้ได้ถือเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก โดย ณ ข้อมูลวันที่  28 พฤษภาคม 2020 พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกได้พุ่งทะลุกว่า 5.7 ล้านคน โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาครองแชมป์อันดับหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อปัจจุบัน และเมื่อกลับมาดูมูลค่าเศรษฐกิจรวมของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสิบอันดับแรก พบว่า มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจรวมทั้งโลก

การแพร่ระบาดดังกล่าวถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมากมายังผู้คน เศรษฐกิจ การเงิน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า ทั่วโลกจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าวได้ภายในเมื่อไร และเมื่อกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้เช่นเดิมหรือไม่ หรือต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรในการฟื้นกลับมา

จากความเสี่ยงที่ปรากฏและสิ่งที่เราต้องพบเจอ ทั้งเศรษฐกิจที่จะหดตัว ภาคการค้าภาคการผลิตที่ชะงักงัน ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการที่ซบเซา รวมถึง ความรู้สึกกลัว ความวิตกกังวลของผู้คน ส่งผลให้ศักยภาพของคนหรือของแรงงานลดทอนลง ยิ่งทำให้การฟื้นกลับมาของธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ล่าช้าออกไปได้ จึงเล็งเห็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้คน ธุรกิจและสังคมช่วยกันฝ่าฟันวิกฤติด้านสุขภาพครั้งนี้ด้วยการนำหลักของ ESG เป็นแนวทาง ซึ่งสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ในภาวะวิกฤติที่เราต่างเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ได้บ่งชี้ให้เห็นชัดมากขึ้นว่า ESG กลายเป็นความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะตัว “S-Social” ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อนำพาให้ธุรกิจและสังคมอยู่รอดไปด้วยกัน

ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ควรมีแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้าง ลูกค้า รวมทั้งสังคมหรือชุมชนที่ธุรกิจมีการบริหารจัดการอยู่ ยึดหลัก “คุณธรรมชี้นำกำไร” ทั้งนี้ ในแง่ของการพิจารณาว่าบริษัทได้นำหลักการของ ESG มาปฏิบัติหรือไม่ สามารถพิจารณาออกเป็นมิติต่างๆ ในด้านของ “S-Social”  ได้แก่

สุขภาพและความปลอดภัย ได้กลายมาเป็นข้อสำคัญที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงและบริหารจัดการอย่างทันท่วงที ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของบุคลากร เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรคของผู้คนในสังคม หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่บ้านสำหรับธุรกิจที่สามารถปฏิบัติได้ สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถเลี่ยงทำที่บ้านได้ เช่น ด้านการแพทย์ ด้านการผลิต ด้านสาธารณูปโภค ก็จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร ผู้ติดต่องาน หรือลูกค้า สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายหนึ่งของบริษัท ซึ่งในแง่ของการพิจารณา ESG เราจะประเมินได้ว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร

ลูกค้า การแพร่ระบาดครั้งนี้ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าอย่างมาก มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อสินค้าลดลงซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทลดลงตามมา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่สามารถปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้าบนระบบออนไลน์ และการส่งสินค้าถึงบ้าน จะสามารถลดผลกระทบลงได้ อีกทั้ง ในแง่ของการพิจารณา ESG เราสามารถจะประเมินได้ว่า เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ บริษัทมีประสิทธิภาพในการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด

บุคลากรและการทำงาน การบริหารจัดการบุคลากรหรือกำลังแรงงานของธุรกิจเป็นอีกด้านที่สำคัญที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการดูแลพนักงานในยามเกิดวิกฤติเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการทำงานจากบ้าน บริษัทต้องมีความพร้อมในด้านของอุปกรณ์ โดยเฉพาะระบบการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพและมีอุปกรณ์จำเป็นอย่างเพียงพอ เพื่อให้การทำงานจากที่บ้านไม่สะดุดและเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ ธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการรับฟังและตอบสนองต่อความต้องการของพนักงาน มีโอกาสที่จะพัฒนาความเชื่อมั่นของบุคลากรที่มีต่อองค์กรได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงใน ESG

ชุมชมและสังคม ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ได้เกิดการขาดแคลนสิ่งจำเป็นที่ต้องนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น หากบริษัทใดสามารถที่จะตอบสนองต่อสิ่งจำเป็นที่สังคมกำลังขาดแคลนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนแผนการผลิต มาผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ให้แก่สังคมได้ ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทต่อไปในระยะยาว นอกจากนี้ การช่วยสนับสนุนทางด้านการแพทย์ การบริจาคให้ผู้คนที่ขาดแคลน เป็นต้น ก็ถือเป็นการช่วยสังคมในยามเกิดวิฤติสุขภาพแบบนี้ได้เช่นกัน ในแง่ของการพิจารณา ESG เราสามารถจะประเมินได้ว่า ธุรกิจได้มีส่วนในการช่วยเหลือสังคมอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้กลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของธุรกิจ ไม่เพียงแต่บททดสอบด้านความแข็งแกร่งทางงบการเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นการได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย

หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านพ้น เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การทำธุรกิจ ภาคการค้า การจ้างงาน สังคม ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่า การพึ่งพากันในสังคม การให้ความช่วยเหลือ รับผิดชอบร่วมกัน จะทำให้ธุรกิจและสังคมมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต