จีนส่ง ‘Beidou’ แข่งกับระบบนำทางระดับโลก

จีนส่ง ‘Beidou’ แข่งกับระบบนำทางระดับโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า เครือข่ายนำทาง Beidou (เป่ยโตว) ของจีน กำลังจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนนี้ เมื่อดาวเทียมดวงล่าสุดขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งจะส่งผลให้จีนระบบนำทางที่เป็นอิสระแยกจาก GPS ของสหรัฐฯ และยังกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญในด้านระบบนำทางที่สหรัฐฯ ครอบครองตลาดมานานด้วย

สำหรับแนวคิดในการพัฒนา Beidou เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1990 เนื่องจากกองทัพต้องการลดการพึ่งพาระบบนำทาง Global Positioning System หรือ GPS ที่ดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐฯ

ดาวเทียม Beidou เปิดตัวครั้งแรก ปี 2000 โดยครอบคลุมเฉพาะในจีนเท่านั้น กระทั่งการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ขยายตัว ในปี 2003 จีนจึงร่วมมือในโครงการดาวเทียมนำทาง Galileo ที่จัดตั้งขึ้นโดยสหภาพยุโรป แต่หลังจากนั้นก็ถอนตัวออกมาเพื่อมุ่งพัฒนา Beidou เมื่อเข้าสู่ยุคไอโฟน ดาวเทียม Beidou รุ่นที่ 2 ก็เริ่มดำเนินการในปี 2012 ซึ่งครั้งนี้ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก แล้วในปี 2015 จีนก็เริ่มต้นดาวเทียมรุ่นที่ 3 โดยมีเป้าหมายครอบคลุมทั่วโลก ทั้งนี้ ดาวเทียมดวงที่ 35 หรือ Beidou 3 ดวงล่าสุดจะเปิดตัวในเดือนนี้ ซึ่งจีนยังไม่ได้ประกาศวันที่ออกมา การดำเนินงานนี้จะทำให้ Beidou มีจำนวนดาวเทียมในระบบมากกว่า GPS ซึ่งมี 31 ดวง และมากกว่า Galileo ของยุโรป กับ GLONASS ของรัสเซีย

ด้วยเงินลงทุนที่คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ Beidou รักษาความปลอดภัยให้เครือข่ายกองทัพจีนได้ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากกรณีที่ GPS อาจต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกัน ขณะเดียวกัน การกำหนดเป้าหมายของอาวุธจะถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเมื่อบริการทำเลที่ตั้งของ Beidou เสร็จสมบูรณ์ จะมีความแม่นยำของตำแหน่งในระยะ 10 เซ็นติเมตรในเอเชียแปซิฟิก เมื่อเทียบกับ GPS ซึ่งอยู่ที่ 30 เซ็นติเมตร

“Beidou ได้รับการออกแบบมานานนับทศวรรษ หลังจาก GPS จึงได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ประสบการณ์จาก GPS โดย Beidou มีสัญญาณบางอย่างที่ใช้คลื่นความถี่สูงขึ้น ทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ดาวเทียมยังมีระนาบวงโคจรน้อยลง ทำให้บำรุงรักษาง่ายขึ้น” Andrew Dempster ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมอวกาศของออสเตรเลีย กล่าว

สำหรับบริการของ Beidou เช่น การตรวจดูจราจรในท่าเรือ และการบรรเทาภัยพิบัติมีการส่งออกไปใช้ใน 120 ประเทศ