Senior Citizen อสังหาฯสบช่องสร้างที่อยู่รับสังคม“สูงวัย”

Senior Citizen อสังหาฯสบช่องสร้างที่อยู่รับสังคม“สูงวัย”

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่าแนวโน้มการเติบโตของที่อยู่อาศัยสำหรับ “ผู้สูงอายุ”

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยในผลสำรวจช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 พบว่าผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือเพื่อรองรับวัยเกษียณของตนเองในอนาคตเพิ่มมากขึ้นถึง 5% โดยคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยสอดคล้องกับกระแสโลก ที่เริ่มมีผู้ให้ความสนใจกับที่อยู่อาศัยที่พัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะพัฒนาโดยเอกชน จากข้อมูลของธนาคารโลก ณ ปี 2016 ระบุว่า 11% ของประชากรในประเทศไทยมีอายุ 65 ปีขึ้นไปจากที่เมื่อปี 1995 หรือ 21 ปีก่อนมีอยู่เพียง 5% เท่านั้น และจากการคาดการณ์ของธนาคารโลกในปี 2040 ประชากรไทยกว่า 17 ล้านคนหรือมากกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุมากกว่า 65 ปี ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนเทรนด์ดังกล่าว จากแต่เดิมที่คนไทยมักจะอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีทั้งพ่อ-แม่และปู่-ย่า-ตา-ยาย และลูกหลานจะต้องดูแลผู้ใหญ่ในบ้านยามแก่เฒ่า แต่ในปัจจุบันรูปแบบสังคมมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งคนไทยและคนในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีมุมมองที่เปิดกว้างในเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น นอกจากนี้จำนวนชาวต่างชาติวัยเกษียณ อาทิ ชาวญี่ปุ่น ชาวจีน และ ชาวยุโรป ที่มองหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ประเทศไทยนั้นมีข้อได้เปรียบมากมายเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บริการทางสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับโลก ราคาที่อยู่อาศัยที่ยังถือว่าถูกกว่าประเทศอื่นๆ วัฒนธรรมที่เป็นมิตร ภูมิอากาศเขตร้อนที่ไม่หนาวเกินไป รวมไปถึงการขอวีซ่าสำหรับวัยเกษียณที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ที่ผ่านมามีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือเป็นโครงการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทยอยเปิดตัวหลายแห่ง อาทิ จ.ปทุมธานี, อ.บางเสร่ จ.ชลบุรี, เกาะสมุย, จ.เชียงใหม่ และ จ.ภูเก็ต และยังมีอีกหลายโครงการที่เตรียมจะเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง “จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากรวมไปถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง และความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในไทยต่อจากนี้ไปจะมุ่งตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เราคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะมากถึง 80,000 ยูนิต” นางกมลภัทร กล่าว