ธรรมะกับการออม

ธรรมะกับการออม

By…บัญชา ตรีบวรสมบัติ, CFP

BF Knowledge Center

คนมีธรรมะก็รวยได้ครับ รวยด้วยธรรมะ วันนี้ก็เลยนำธรรมะ 2 หมวดมาเล่าให้พวกเราเข้าใจและได้นำไปปฏิบัติ ได้แก่ หลักสันโดษ และหัวใจเศรษฐี ตามมากันครับ

ธรรมะหมวดแรก คือหลักสันโดษ

เรื่องสันโดษนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดกันมาก เข้าใจกันว่าสันโดษทำให้ยากจน ทำให้เกียจคร้าน ขัดขวางความเจริญทางเศรษฐกิจ ขอให้เรามาพิจารณากันต่อไปว่าความเข้าใจของคนทั้งหลายนั้นเป็นจริงหรือไม่

จริงๆ แล้วสันโดษแปลว่า ยินดี  ชอบใจ พอใจ อิ่มใจ สุขใจ กับของของตน ยินดีสิ่งที่เป็นของตน ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ และ ยินดีด้วยใจที่เสมอ (ด้วยใจที่มั่นคง) หลักสันโดษนี้มุ่งให้บุคคลพึงพอใจในสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนเองได้มาและใช้จ่ายในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ให้บุคคลรู้จักประมาณ ได้แก่ การประหยัดและรู้จักออม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ มีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย โปร่งใส และไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ความหมายโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ รู้จักประมาณนั่นเองครับ

ธรรมะหมวดที่สอง คือหัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ”

ที่จริงคือหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง อันหมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ เป็นต้น ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ดังนี้

(1) อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง ขยันหาทรัพย์ โดยมีความขยันในหน้าที่การงาน ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอย

(2) อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง รู้จักเก็บ เข้าใจจัดการ โดยมีสติปัญญาในการจัดการใช้ทรัพย์ว่าควรจะใช้เท่าใด จะทำทุนเท่าใด เก็บไว้สำรองเท่าใด

(3) กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง ไม่ประมาทมัวเมาลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยวนต่างๆ การเสี่ยงโชคเล่นการพนัน และการคบคนชั่วเป็นมิตร

(4) สมชีวิตา (สะ) หมายถึง เลี้ยงชีวิตพอสมควร คือ ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไปและไม่ฝืดเคืองเกินไป รู้จักความพอเหมาะพอดี

หากพวกเรานำธรรมะกับการออม 2 หมวดนี้ไปปฏิบัติ บวกกับความรู้ในการวางแผนการเงินการลงทุน ทุกท่านคงจะได้เป็นเศรษฐีที่มีความสุขสมใจนึกกันครับ