Fund Comment มิถุนายน 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มิถุนายน 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

สรุป

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตร จะมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายหลังจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 
  • ตราสารหนี้ภาคเอกชน จะมีความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
  • กองทุนจะมีการลงทุนในหุ้นกู้โดยคัดเลือกผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบด้านกระแสเงินสดในระดับต่ำ และมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการระดมทุนเพื่อต่ออายุหุ้นกู้

รายละเอียด : มุมมองตลาดตราสารหนี้

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน มิ.ย. ปรับตัวในทิศทางที่ชันขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ค. โดยอัตราผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรอายุ 5 ปี ลงมาปรับตัวลดลง 1-11 bps จากการที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกนับจากเดือน ก.พ. เนื่องด้วยประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ต่ำ สนับสนุนให้มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายล็อกดาวน์ได้เร็ว จึงมีการเข้ามาเก็งกำไรผ่านการซื้อพันธบัตร

ในขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศยังมีการคาดการณ์ถึงการทำ Bond switching ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ จำนวนประมาณ 1-1.2 แสนล้านบาท โดยมี Source bond เป็นพันธบัตรในกลุ่มอายุไม่เกิน 4 ปี ส่งผลให้พันธบัตรในช่วงอายุดังกล่าวมีแรงซื้อจำนวนมาก ขณะที่แรงซื้อในพันธบัตรระยะยาวมีปริมาณที่เบาบาง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาอยูที่ระดับ 1.28% (+4 bps MTD)  ส่วนอัตราผลตอบแทน US Treasury 10Y อยู่ที่ระดับ 0.66% (+ 1 bps MTD)

ทั้งนี้ หลังจากที่ ธปท. ได้ประกาศใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินในเดือน มี.ค. ซึ่งช่วยให้ตลาดตราสารหนี้กลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ทาง ธปท. ได้กลับมาให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยมีการประกาศมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ซึ่งมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การปรับลดเพดานดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ในอัตราร้อยละ 2-4 ต่อปี การเพิ่มวงเงินสำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และเพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาด้านหนี้เสียที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น และอาจกลับมาส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอีกครั้ง

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ยังคงมีความกังวลในภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล (Credit spread) สำหรับหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA เริ่มอยู่ในระดับคงที่จากเดือน พ.ค. ขณะที่ Credit spread สำหรับหุ้นกู้ในกลุ่มที่มีอันดับเครดิตรองลงมาอย่างกลุ่ม BBB ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราที่ลดลง โดยปรับเพิ่มขึ้น 3 bps สำหรับหุ้นกู้อายุ 5 ปี ทั้งนี้ Credit spread ในปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงต้นปี 2552 ที่เกิดเหตุการณ์ US Subprime Crisis บ่งชี้ว่าตลาดต้องการส่วนต่างเพื่อชดเชยความเสี่ยงในระดับสูง การกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังการผ่อนคลายล็อคดาวน์ยังมีโอกาสที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาด โดยตั้งแต่เดือน เม.ย. มีบริษัทเอกชนบางรายที่ไม่สามารถระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ รวมถึงผู้ออกหุ้นกู้บางรายมีการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้เพื่อยืดระยะกำหนดชำระหุ้นกู้ออกไป อย่างไรก็ดี ยังไม่มีบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการขายหุ้นกู้ได้ไม่เพียงพอ

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ในปี 2563 นี้ มีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  • ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง และส่งผลให้ความต้องการซื้อพันธบัตรลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความกังวลด้านจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกิดการระบาดในลักษณะ Second wave อาจเป็นปัจจัยลบมากขึ้นต่อตลาดตราสารหนี้ได้เช่นกัน จากความตื่นตระหนกของนักลงทุนและขายสินทรัพย์ทุกประเภทเพื่อถือเงินสดเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
  • การเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวแรง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอ่อนตัวกว่าที่คาด โดยล่าสุด IMF ได้ปรับประมาณการ Global GDP Growth ให้ติดลบมากขึ้นจาก -3% ในเดือน เม.ย. เป็น -9% ในเดือน มิ.ย. ปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative easing) มาตรการ Yield Curve Control รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงจากระดับปัจจุบันได้

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบัน เพื่อติดตามผลของนโยบายการเงินปัจจุบันที่มีต่อเศรษฐกิจ รวมถึงเพื่อรักษา Policy space ที่มีจำกัดไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร จะมีความผันผวนตามปัจจัยอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายหลังจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งจะมีความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่องเพิ่มขึ้น กองทุนจะมีการลงทุนในหุ้นกู้โดยคัดเลือกผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบด้านกระแสเงินสดในระดับต่ำ และมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการระดมทุนเพื่อต่ออายุหุ้นกู้