ชีวิตดิจิทัลหลังโควิด

ชีวิตดิจิทัลหลังโควิด

โดย…

พิชา  เลียงเจริญสิทธิ์

กองทุนบัวหลวง

ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปี 2020 ซึ่งประเทศของเราได้มีการล็อคดาวน์เมืองบางส่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะมีประสบการณ์เช่นเดียวกันว่า รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคสินค้า หรือการทำงานนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเลย คือ การซื้อสินค้าออนไลน์ที่พุ่งขึ้นชัดเจน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยอดขายสินค้าออนไลน์ของ Amazon.com ในทวีปอเมริกาเหนือของไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น  32% y-y เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวประมาณ 24% y-y ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ซึ่งนี่ยังไม่สะท้อนถึงผลของ Traffic ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยหลังจากหลายประเทศทยอยเปิดเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม ได้ส่งผลให้ยอดขายออนไลน์ของสินค้าบางกลุ่มชะลอลงมาก เช่น ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ ที่ได้รับผลบวกเป็นพิเศษในช่วงล็อคดาวน์ กลับมี traffic ที่ลดลงชัดเจน เนื่องจากผู้บริโภคสามารถกลับไปซื้อสินค้าได้ที่สาขาของร้านค้าคู่แข่งขนาดใหญ่ได้ แต่ธุรกิจออนไลน์หลายแห่งยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง (ชะลอลงเพียงเล็กน้อย) แม้ว่าสถานการณ์จะทยอยกลับสู่ภาวะปกติ เช่น marketplace สำหรับการหาคนทำงานฟรีแลนซ์ หรือ การบริการส่งอาหาร online เป็นต้น บ่งชี้ว่า การใช้บริการออนไลน์บางประเภทนั้นได้รับการ ‘จุดประกาย’ ขึ้นจากวิกฤติ COVID-19 ให้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากการซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น อีกบริการหนึ่งที่เชื่อว่า หลายท่านอาจจะมีโอกาสได้ใช้งานด้วยในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การประชุมผ่าน Video Conferencing Platform ไม่ว่าจะเป็น ผ่านระบบ Zoom ระบบ Webex ของ CISCO หรือ MS Teams ของบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งตัว MS Teams นั้นยังสามารถใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร การนัดหมายในองค์กร การประกาศและติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ได้ด้วย ในปลายเดือนเมษายน มีจำนวนผู้ใช้ MS Teams เพิ่มเป็น 75 ล้านคนต่อวัน เทียบกับ 32 ล้านคนในต้นเดือนมีนาคม หรือ Platform Zoom นั้น มีรายได้ในไตรมาสสิ้นสุดเดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 74% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 328 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคาดว่ารายได้จะยังเพิ่มได้อีก 50% ในไตรมาสถัดไป เทียบกับปีที่แล้ว การเพิ่มขึ้นของรายได้รายไตรมาสของ Zoom อยู่ที่ประมาณ 10% กว่าๆ เท่านั้น หลังจากนี้ แม้ผู้คนจะทยอยกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม แต่เชื่อว่า การใช้งานประชุมผ่าน Video Conference จะยังคงเพิ่มขึ้นเป็นเทรนด์ต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนสามารถเข้าถึงการประชุมได้บ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญ ต้นทุนของการประชุมทางไกลนั้นต่ำกว่าการประชุมแบบเดิมอย่างมาก ทั้งในแง่ของตัวเงินและเวลา และเทคโนโลยีการสื่อสารมีแต่จะพัฒนาดีขึ้น ทำให้คุณภาพทั้งเสียงและวีดีโอของการประชุมทางไกล ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานเหมือนในอดีต

อีกหนึ่งการใช้งานที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น ได้แก่ การใช้ลายเซ็นดิจิทัล หรือ E-Signature ซึ่งมีข้อดีกว่าการใช้เอกสารแบบกระดาษ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความสะดวก โดยเฉพาะเอกสารที่ต้องการลายเซ็นจากหลายฝ่าย และแต่ละฝ่ายไม่ได้อยู่ใกล้กัน (บางท่านอาจพบเจอปัญหาลักษณะนี้ในช่วงที่ทำงานที่บ้าน) หรือปัจจัยด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทลังเลที่จะทำการปรับเปลี่ยน แต่ที่จริงแล้ว ลายเซ็นดิจิทัลนั้นมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ดีกว่าเอกสารแบบกระดาษด้วยซ้ำ โดยผู้ใช้ลายเซ็นดิจิทัลนั้นจะต้องมีการใส่รหัสที่ถูกสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดขั้นตอนการส่งไฟล์เอกสาร อีกทั้งถ้าหากไฟล์นั้นถูกเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เลย ในขณะที่การใช้เอกสารกระดาษนั้นไม่สามารถป้องกันผู้มาแอบอ่านหรือผู้ปลอมแปลงข้อมูลได้ดีเท่า ซึ่งในสหรัฐฯและยุโรปนั้นได้ให้ลายเซ็นดิจิทัลมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้แล้ว และความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการใช้ลายเซ็นดิจิทัล ช่วยผลักดันให้บริษัทที่ทำธุรกิจนี้ สามารถสร้างการเติบโตของรายได้มากถึงปีละ 30-40% และผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เริ่มใช้ลายเซ็นดิจิทัลแล้ว คงไม่หวนกลับไปใช้เซ็นเอกสารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป และจะเป็นกุญแจที่ปลดล็อคให้การทำงานหรือทำธุรกรรมทางไกลอีกหลายชนิดผ่านระบบ Cloud สามารถทำได้มากขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างข้างต้นเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ปัญหาของการที่ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้านช่วงล็อคดาวน์ได้ และยังมีอีกหลาย Application ที่ได้ผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมา มักจะไม่ได้พบเจอสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่ง Application ส่วนสนับสนุน ยกตัวอย่างได้เช่น Platform การสื่อสาร (CPaaS) อันได้รับผลบวกจากการที่ผู้ประกอบการอย่างธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมเห็นความสำคัญของการเพิ่มช่องทางการบริการเป็นแบบหลายช่องทาง (Omnichannel) มากขึ้น ระบบฐานข้อมูล NoSQL ซึ่งเหมาะสมสำหรับธุรกิจ E-Commerce ที่ต้องรองรับโหลดการใช้งานที่ผันผวนมากและคาดการณ์ได้ยากในแต่ละช่วงเวลา หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและวิเคราะห์ระบบการทำงาน โดยจะทำให้บริษัทสามารถมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ รวมทั้งใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานในส่วนต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ส่วนคุณภาพการบริการของ Application หรือการวิเคราะห์ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log Analytics) เป็นต้น สำหรับรายได้ของธุรกิจเหล่านี้บางบริษัทอาจจะได้รับผลกระทบจากการซื้อที่ลดลงของบริษัทในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากจากไวรัส COVID-19 เช่น ภาคท่องเที่ยว หรือสายการบิน เป็นต้น แต่แนวโน้มความต้องการใช้นั้นมีมากขึ้นสำหรับลูกค้าภาคธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่ลดการใช้จ่ายด้าน IT มักจะเป็นการชะลอออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์มากกว่าที่จะเป็นการตัดงบในส่วนนี้ไปเลย

นี่เป็นเพียงผลพวงส่วนหนึ่งที่จะทยอยถูกผลักดันมากขึ้น สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามแนวโน้ม Digitalization ซึ่งนอกจากความสะดวกรวดเร็วในการบริการและการใช้งานแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้ด้วย ในอนาคตเราคงจะได้เห็น Application ใหม่ๆ ที่เป็นการต่อยอดไม่สิ้นสุดจากแนวโน้มนี้ แต่แน่นอนว่า ก็จะมีอีกหลาย Application ที่ไม่สามารถปรับตัวกับความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ หรือไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ที่มี Platform การให้บริการที่คลอบคลุมกว่า ซึ่งวิธีหนึ่งที่พบได้บ่อยของบริษัทขนาดเล็กในอุตสาหกรรมนี้ คือ การเข้าไปเป็น partner สำหรับให้บริการเฉพาะส่วนใน platform ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Amazon AWS, Microsoft Azure, Google Cloud หรือ Salesforce เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย แม้เราจะยังไม่มีบริษัทที่ขึ้นชื่อหรือโดดเด่นที่ให้บริการ Digital Platform แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว การติดตามแนวโน้มทางด้าน Digital ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากมันย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจดั้งเดิมต่างๆ บ้าง ไม่มากก็น้อย