การเมืองเรื่องวัคซีนโคโรนาไวรัส (ตอน 1)

การเมืองเรื่องวัคซีนโคโรนาไวรัส (ตอน 1)

โดย…ทนง ขันทอง

การแข่งขันเพื่อดันวัคซีนโคโรนาไวรัสออกมาให้เร็วที่สุดมีความเข้มข้นดุเดือดเป็นอย่างยิ่ง และแฝงไปด้วยกลิ่นไอของผลประโยชน์ทั้งทางการเงินและการเมืองระดับโลก ในขณะที่ตลาด และคนทั่วโลกต่างรอคอยวัคซีนเป็นความหวังที่จะทำให้การระบาดของไวรัสสิ้นสุดลง เพื่อว่าชีวิต และธุรกิจจะได้กลับมาดำเนินตามปกติ

The Financial Times รายงานในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการที่จะเร่งให้หน่วยงาน Food and Drug Administration มีการอนุมัติการใช้วัคซีนโคโรนาไวรัสที่พัฒนาโดย AstraZeneca บริษัทยาสัญชาติอังกฤษควบสวิดิชเป็นกรณีฉุกเฉินก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3พฤศจิกายน เพื่อที่จะช่วยเขาโกยคะแนนความนิยมจากคนอเมริกัน แต่ตัวแทนของ AstraZeneca ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ว่า ทางบริษัทยังไม่มีการเจรจารายละเอียดอะไรกับรัฐบาลทรัมป์

AstraZeneca ได้มีร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดของอังกฤษในการพัฒนาวัคซีนโคโรนาไวรัสตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และในเดือนกรกฎาคมได้ทำการทดลองกับคนแล้วในระยะ 1 และระยะ 2 ปรากฎว่าให้ผลตอบสนองดี เพราะว่าร่างกายของผู้ที่เข้าโครงการทดลองวัคซีนมีการสร้างภูมิต้านทาน ตอนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ AstraZeneca กำลังทดสอบวัคซีนกับคนจำนวน 30,000 คนในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ รวมทั้งบราซิลและแอฟริกาใต้

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา AstraZeneca ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งเป้าจะผลิตวัคซีนโคโรนาไวรัส 2,000 ล้านโดส โดย 400 ล้านโดส จะเอาไว้แจกจ่ายให้คนอเมริกันและคนในสหราชอาณาจักร ที่เหลือจะแจกจ่ายให้ประเทศอื่นๆ

ดูเหมือนว่า AstraZeneca จะเป็นบริษัทที่มีเส้นสายที่หนาปึ๊ก เพราะว่าหลังจากที่ AstraZeneca รายงานผลเบื้องต้นของการทดลองวัคซีนในเดือนกรกฎาคม ดร.ไมค์ ไรอั้น ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลกด้านโปรแกรมฉุกเฉินรีบออกมากล่าวชมเชย AstraZeneca กับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เหมือนกับให้ท้ายสนับสนุน แม้ว่าขบวนการทดลองวัคซีนยังไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามกระบวนการ

AstraZenecaเตรียมผงาดเป็นจ้าวโลกด้านวัคซีนโควิด-19 เพราะว่ามีลูกค้าระดับบิ๊กๆ ทั้งนั้นต่อแถวขอซื้อ หรือทำข้อตกลงด้านการพัฒนาวัคซีน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีของในมือ และวัคซีนที่เตรียมนำออกมาฉีดให้คนทั่วไปจะมีความฉมังเพียงใดในการต้านทานไวรัสก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันให้ความมั่นใจได้

ในเดือนพฤษภาคม The US Biomedical Research and Development Authority มอบเงินให้โครงการวัคซีนของ AstraZeneca เพื่อที่จะผลิตวัคซีนให้คนอเมริกัน 300 ล้านโดส โดยโดสแรกอาจจะมีการจะส่งมอบในเดือนตุลาคม

ในเดือนมิถุนายน AstraZeneca ได้บรรลุข้อตกลงกับ Inclusive Vaccines Alliance ของสหภาพยุโรปภายใต้การนำของเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ที่จะซัพพลายวัคซีนโคโรนาไวรัสให้กับพลเมืองของยุโรปจำนวน 400 ล้านโดส โดยการส่งมอบจะเริ่มต้นช่วงปลายปี 2020 นี้

รัฐบาลญี่ปุ่นก็เป็นลูกค้าอีกรายของ AstraZeneca โดยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ มีการประกาศว่าญี่ปุ่นจะได้รับการส่งมอบวัคซีนโคโรนาไวรัสจำนวน 120 ล้านโดส การส่งมอบจะเริ่มต้นด้วยจำนวน 30 ล้านโดส ก่อนในเดือนมีนาคมปี 2021

นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย นายสก๊อต มอร์ริสัน ประกาศเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า ออสเตรเลียได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับ AstraZeneca ที่จะผลิต และซัพพลายวัคซีนโคโรนาไวรัสให้กับพลเมืองออสเตรเลียจำนวน 25 ล้านคน

ตอนแรก นายมอร์ริสัน บอกว่า ชาวออสเตรเลียนทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส แต่หลังจากที่มีกระแสต่อต้านจึงกลับลำ บอกว่าการฉีดวัคซีนเป็นโครงการสมัครใจ

แม้ว่าจีนจะมีการพัฒนาวัคซีนโคโรนาไวรัสของตัวเอง แต่ก็ต้องขอแตะมือกับ AstraZeneca เพื่อที่จะได้รู้เขารู้เรา ในวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา AstraZenecaได้ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท Shenzhen Kantai Biological Products ของจีน เพื่อที่จะผลิตวัคซีนที่ AstraZeneca ได้พัฒนาขึ้นมาในประเทศจีน โดยจะผลิตอย่างน้อย 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ และอย่างน้อย 200 ล้านโดส ภายในสิ้นปีหน้า

ส่วนเมืองไทยเรา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมงบประมาณแล้ว 600 ล้านบาท ผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อที่จะร่วมพัฒนาวัคซีนกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและ AstraZeneca
สรุปแล้ว วัคซีนโคโรนาไวรัสของ AstraZeneca มาแรงที่สุด ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองอย่างเต็มที่ เมื่อดูจำนวนโดสที่เตรียมผลิตออกมา และดูเหมือนว่าแต่ละประเทศจะมีการบังคับใช้ให้พลเมืองต้องฉีดวัคซีนป้องกันทุกคน