BF Monthly Economic Review – ส.ค. 2563

BF Monthly Economic Review – ส.ค. 2563

BF Economic Research

สรุปประเด็นที่น่าสนใจ

  • GDP ไตรมาสที่ 2 ของประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศออกมาแล้วเห็นการติดลบค่อนข้างแรง ข่าวร้ายผ่านไปแล้ว ส่วนในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะเห็นเศรษฐกิจค่อยๆ กระเตื้องขึ้น
  • นโยบายการเงินที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน
  • ติดตามการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกของจีนขยายตัวต่อเนื่อง หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศในเอเชียอื่นๆ จะได้รับอานิสงส์ด้วย เพราะห่วงโซ่อุปทานการผลิตเชื่อมโยงกัน

การประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ประกาศออกมาแล้วเห็นการติดลบค่อนข้างแรง

ในเชิงมุมมองของการลงทุนมองว่า ข่าวร้ายผ่านไปแล้ว ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ตลาดมองว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น หลายประเทศ ได้รับการปรับตัวเลข GDP ดีขึ้น หรือแม้แต่จีนที่ยังไม่เห็น GDP ติดลบแม้แต่ไตรมาสเดียว

ต้องติดตามนโยบายการเงิน โดยเมื่อปลายเดือน ส.ค. มีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีใจความสำคัญด้านบวกคือ ประธานเฟด ออกมาบอกว่า ต่อไปนี้ วิธีการดำเนินนโยบายการเงิน จะไม่ได้คิดที่อัตราเงินเฟ้อ ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลา แต่จะคิดค่าเฉลี่ยของเงินฟ้อตั้งแต่ช่วงปี 1990 กว่าๆ จนถึงปีปัจจุบัน ตราบใดที่ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2% ถือว่าใช้ได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Average Inflation Targeting

 

 

เมื่อตีความในเชิงการลงทุน เฟดจะมองเงินเฟ้อระยะกลาง ดังนั้นเมื่อมองค่าเฉลี่ย ในบางปีหรือบางเดือน เงินเฟ้ออาจจะต่ำ ซึ่งจริงๆ แล้วสหรัฐฯ เงินเฟ้อต่ำกว่า 2% ตั้งแต่ปี 2002 แล้ว ดังนั้นหมายความว่า การทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ในระยะไกล เงินเฟ้อจะต้องมากกว่า 2% เพื่อที่จะมาถัวเฉลี่ยกับปัจจุบันที่ต่ำกว่า 2% ดังนั้นก็หมายความว่าในอนาคตถ้าเงินเฟ้อมากกว่า 2% ไปแล้ว เฟดก็จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจถูกลง นโยบายการเงินที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน

ประเด็นสุดท้าย การค้าระหว่างประเทศของจีน จากข้อมูลการส่งออกจีนเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ตัวเลขล่าสุดการส่งออกจีน +7.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากข้อมูลของเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0.5% หากการส่งออกจีนโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ก็จะได้รับยอดคำสั่งซื้อของจีนไปด้วยโดยอัตโนมัติ เพราะห่วงโซ่อุปทานการผลิตเชื่อมโยงต่อถึงกัน

การส่งออกจากจีน สินค้าโดดเด่น เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ซึ่งไทยเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานนี้เช่นกัน หากจีนส่งออกเป็นบวกในเดือนถัดไป ก็จะได้เห็นการส่งออกเชิงบวกกับภูมิภาคนี้เช่นกัน