CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง อีกนวัตกรรมการเงินที่ต้องจับตา

CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง อีกนวัตกรรมการเงินที่ต้องจับตา

โดย…เต็มเดือน พัฒจันจุน

กองทุนบัวหลวง

การเกิดขึ้นของคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) หรือที่รู้จักในนามบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาปฏิวัติวงการการเงินที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยท่านผู้อ่านอาจจะรู้จักกับ Cryptocurrency กันบ้างแล้ว เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็น Decentralized Cryptocurrency ที่ไม่มีผู้ออกที่ชัดเจน แต่มีกลไกให้ทุกคนมีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการรับรองความถูกต้องของธุรกรรม หรือลิบรา (Libra) ที่เป็น Private-entity Issued Cryptocurrency มีภาคเอกชนเป็นผู้ออก

ในคอลัมน์นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งอาจเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้เกิด Cashless Society อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ท่ามกลางปัจจัยเร่งจากโควิด-19 ที่หนุนระบบการชำระเงินแบบ Contactless

Central Bank Digital Currency (CBDC) คือ เงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ เช่น ดิจิทัลหยวน คือ เงินหยวนที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งออกโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ถือเป็นอีกวิวัฒนาการของเงินที่ผสมผสานความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้าไป

ทั้งนี้ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางยังคงมีความเป็นเงินเช่นเดียวกับเงินในรูปแบบเหรียญและธนบัตร (Fiat Money) ที่เราคุ้นเคย เพียงแต่เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น หากพิจารณานิยามของเงินตามหลักเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของสินค้าและบริการ (Unit of Account) และเป็นที่เก็บรักษามูลค่า (Store of Value) CBDC ก็ยังคงคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน

ด้วยเหตุนี้ CBDC จึงแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลประเภทอื่นๆ ที่ผู้ออกอาจเป็นองค์กรเอกชนหรือผู้พัฒนาที่ไม่ทราบตัวตนแน่ชัด และธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังไม่รับรองว่า สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงยังไม่สามารถทำหน้าที่ของเงินได้อย่างครบถ้วน

หลายธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หนึ่งในปัจจัยเร่งที่สำคัญคือ การมาของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน โดยเฉพาะลิบรา (Libra) ที่ริเริ่มพัฒนาโดย Facebook ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลแบบ Stable Coin ที่มีมูลค่าคงที่ ผูกติดหรืออ้างอิงกับเงินสกุลต่างๆ เช่น เงินดอลลาร์ เงินยูโร เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงิน จากการพึ่งพาบริการทางการเงินจากภาคเอกชน ซึ่งอาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ นอกจากนี้ CBDC จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน ลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด และสอดรับกับกระแสของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่กำลังเติบโตขึ้น

ประเทศที่ถือว่ามีความก้าวหน้าในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล คงหนีไม่พ้นประเทศจีน จากปัจจัยหลักที่ประชากรมีความคุ้นเคยกับการชำระเงินดิจิทัล (Digital payment) และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ Cashless Society ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาค ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) เดินหน้าทดลองใช้ดิจิทัลหยวน (Digital Yuan) ใน 4 เมืองหลัก ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู พร้อมทั้งล่าสุดมีแผนที่ขยายการทดสอบไปยังเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและฮ่องกงอีกด้วย โดยเริ่มต้นจากการทดลองจ่ายเงินเดือนข้าราชการบางส่วนเป็นหยวนดิจิทัล และให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่ร่วมทดสอบ

รายงานข่าวระบุว่า มีร้านอาหารและร้านค้าปลีก เช่น Starbucks McDonald’s และ Subway รวมถึงผู้ให้บริการ Ride-Hailing คือ Didi เข้าร่วมการทดสอบนี้ด้วย นอกจากนี้ ดิจิทัลหยวนยังสามารถใช้ร่วมกับระบบ Wepay และ Alipay ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Wallet) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน ทั้งนี้ คาดว่า ดิจิทัลหยวนจะช่วยส่งเสริมการเข้าสู่ Cashless Society ของจีนให้เข้มข้นยิ่งขึ้นจากปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC ภายใต้โครงการอินทนนท์ มาตั้งแต่ปี 2561 โดยที่ผ่านมา ทำการทดสอบ เช่น การแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ ธปท. ให้อยู่ในรูป CBDC เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและโอนชำระเงินระหว่างกัน การนำไปใช้ในการซื้อขายพันธบัตร รวมถึงร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงในการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยไม่ผ่านตัวกลาง และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ธปท. ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงิน โดยใช้ CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจ โดย CBDC จะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บมจ. ปูนซีเมนต์ (SCG) กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน

สุดท้ายนี้ CBDC จะสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้ทั้งภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอยู่เสมอ