รัฐบาลเกาหลีใต้ผนึกกำลังซัมซุงพึ่งพาตัวเองหลังญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกชิป

รัฐบาลเกาหลีใต้ผนึกกำลังซัมซุงพึ่งพาตัวเองหลังญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกชิป

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดตัวโรงงานทดสอบวัตถุดิบเซมิคอนดักเตอร์เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้มอบชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรให้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก

โรงงานแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งผลิตและทดสอบวัสดุในการผลิตชิปที่มีความซับซ้อน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการที่เกาหลีใต้ต้องการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกวัตถุดิบชิปไฮเทคตั้งแต่ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเตือนว่า เกาหลีใต้อาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีชิป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้นในช่วงที่ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาด และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน มีความตึงเครียด เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน

ลี โจ วอน ประธานศูนย์นาโนแฟบแห่งชาติของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ทดสอบ กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ เช่น ซัมซุง ก่อนหน้านี้จะจัดหาส่วนประกอบที่ดีที่สุดในราคาถูกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบมาจากที่ไหน แต่ในช่วงที่ญี่ปุ่นจำกัดการส่งออก และโควิด-19 เริ่มระบาด ก็เป็นการส่งเสริมให้พึ่งพาผู้ผลิตในท้องถิ่นมากขึ้น และทำให้เกิดการสร้างระบบเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตยังเดินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า อุปกรณ์ที่ซัมซุงจำหน่ายให้ห้องทดลองของศูนย์ รวมถึงเครื่องพิมพ์ที่สร้างโดย ASML จะช่วยให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นทดสอบวัตถุดิบชิปได้ โดยเครื่องนี้เป็นเครื่องที่ผู้ผลิตชิปความจำอันดับต้นๆ ของโลกใช้ในสายการผลิต มีต้นทุนกว่า 100,000 ล้านวอน หรือประมาณ 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เกาหลีใต้ เริ่มมีการกระจายแหล่งที่มาของวัตถุดิบ 3 แห่ง ในช่วงที่ญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมีการใช้ห่วงโซ่อุปทานในเกาหลีใต้เอง รวมถึงเบลเยี่ยม ไต้หวัน และจีน

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมตั้งข้อสงสัยว่า จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิหรือไม่กับการที่ผู้ผลิตวัตถุดิบชิปรายเล็กๆ ในเกาเหลีใต้จะใส่เงินลงไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ที่ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน

สำหรับอุตสาหกรรมชิป คิดเป็น 20% ของการส่งออกของเกาหลีใต้ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ในเอเชีย