Asset Allocation ยิ่งผันผวน ยิ่งสำคัญ

Asset Allocation ยิ่งผันผวน ยิ่งสำคัญ

โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

การกระจายการลงทุน หรือที่เรียกว่าการทำ Asset Allocation ซึ่งเป็นการกระจายอย่างมีหลักการ จะสามารถลดความผันผวนและความเสี่ยงของการลงทุนได้ แนวคิดมีอยู่ 2 อย่างคือ 1.กระจายประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน และ 2.การทำ Asset Allocation ในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน

1.การกระจายประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน สำหรับคนที่ต้องการได้ผลตอบแทน แต่ไม่แน่ใจ หรือมีระยะเวลาการลงทุนไม่มากนัก ความสามารถในการรับความเสี่ยงไม่มากนัก ถ้าไปลงทุนในหุ้นอย่างเดียว ไม่กระจายลงทุน เมื่อหุ้นตก พอร์ตก็ติดลบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถ้าในพอร์ตลงทุนมีตราสารหนี้บ้าง ในช่วงที่หุ้นตก ตราสารหนี้ก็จะช่วยเป็นตัวพยุงพอร์ตโดยรวมไว้ หรืออาจจะมีทองคำบ้าง ในบางจังหวะที่ราคาดี เพียงแต่จะลงทุนมากหรือน้อยแค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

2.การทำ Asset Allocation ในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน เช่น หุ้น ถ้าสมมติเราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมาก แล้วไปลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมด พอร์ตลงทุนโดยรวมก็จะปรับลดไปในทิศทางเดียวกันเลย หมายความว่า ในส่วนที่มีหุ้นอยู่ หุ้นก็ไปหมดเลย แต่ถ้ารู้จักกระจาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปซื้ออะไรก็ได้ แต่ต้องมั่นใจและเห็นโอกาสของการที่จะไปลงทุนก่อน เช่น รอบนี้แทนที่จะอยู่แต่หุ้นในประเทศ ควรมีการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศบ้าง โดยอาจกระจายการลงทุนในหุ้นจีนบ้าง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีบ้าง หรือหุ้นในสหรัฐฯ และหุ้นทั่วโลกบ้าง ก็จะพบว่า แม้เหตุการณ์โควิด-19 จะมีผลกระทบต่อหุ้นทั่วโลก แต่จีนก็สามารถกลับมาฟื้นได้เร็ว หรือหุ้นบางกลุ่มกลับได้ประโยชน์ เพราะทุกคนวิ่งเข้ามาหา ความต้องการเพิ่มขึ้นมากในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หากมีหุ้นเหล่านี้อยู่ในพอร์ตก็จะมาช่วยรักษาสมดุลไม่ให้พอร์ตโดยรวมติดลบ หรือทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบเต็มๆ เทียบกับกลุ่มที่เลือกหุ้นเพียงแบบเดียว

สำหรับปัจจัยในการทำ Asset Allocation นั้น ต้องดูก่อนว่าเป้าหมายและความเสี่ยงที่เรารับได้คืออะไร ซึ่งในส่วนของเป้าหมายคืออะไรนั้น คนมักจะพูดถึงเพียงว่าอยากได้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่นำเปอร์เซ็นต์ของผลตอบแทนเป็นตัวกำหนด เพราะว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการลงทุนในอนาคตข้างหน้าของเราจะได้กี่เปอร์เซ็นต์

หากจะนำเอาผลตอบแทนในอดีตมาเป็นตัวเทียบเคียง ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงสำคัญจริงๆ หุ้นมีการเปลี่ยนหน้า โดยหุ้นบริษัทกิจการที่รุ่งเรือง ยิ่งใหญ่สมัยก่อน ในปัจจุบันขนาดก็เล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่หุ้นใหม่ๆ ตัวเล็กๆ กระโดดขึ้นมาแรง อย่างเช่น ถ้าไปดูในอเมริกาจะพบว่า หุ้นเทคโนโลยี หรือหุ้นธุรกิจใหม่ๆ ที่มาแรงวันนี้ หากไปพูดถึงเมื่อ 10-20 ปีก่อนอาจจะไม่เข้าใจว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นการดูโดยกำหนดเป้าหมายเป็นผลตอบแทนเป็นหลักไม่เหมาะ แต่ว่านำมาเป็นแนวทางได้ คือ สมมติรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง อยากได้ผลตอบแทนดีๆ มีระยะเวลาการลงทุนที่นานพอ อีกทั้งอายุก็ยังน้อย คุณสามารถลงทุนในหุ้นได้ในสัดส่วนที่มากหน่อย หรืออาจจะมีทองคำผสมได้ เพราะรับความเสี่ยงได้ ลงทุนระยะยาวได้ รับความผันผวนระหว่างทางได้ และไม่ได้ต้องการนำเงินก้อนนี้มาใช้ระหว่างทางในระยะเวลาอันใกล้นี้

สำหรับเรื่องผลตอบแทนโดยเฉลี่ย ถ้ามีหุ้นในพอร์ตประมาณ 80-90% อาจจะดูเทียบเคียงกับผลตอบแทนของหุ้นในช่วงที่ผ่านมาเพื่อเทียบเคียง ก็จะทราบคร่าวๆ ว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณเท่าไหร่ หรือมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนดีกว่าพอร์ตลงทุนที่เงินจำนวนมากไปอยู่ในตราสารหนี้ แม้จะบอกตัวเลขผลตอบแทนไม่ได้ แต่ดูเป็นแนวคิดได้ อย่างน้อยๆ การมีหุ้นมากกว่าในพอร์ต ก็ดีกว่าพอร์ตกองทุนที่มีตราสารหนี้มากกว่าในพอร์ต ในแง่ผลตอบแทนที่คาดหวัง

ทั้งนี้ สมัยก่อนเวลาลูกค้าจะลงทุนกองทุน ก็มักจะถามว่าซื้อกองทุนไหนดี ซึ่งกองทุนที่เสนอขายก็แสดงเป็นรายตัว เช่น กองทุนจีน กองทุนหุ้นเทคโนโลยี กองทุนหุ้นไทย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการขายผลิตภัณฑ์กองทุนเป็นชิ้นๆ แต่เมื่อไปดูโจทย์ของผู้ลงทุนจริงๆ จะพบว่า ไม่ได้ต้องการกองทุนรวม แต่ต้องการผลตอบแทนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ บางคนบอกว่าอยากได้ผลตอบแทนเยอะๆ

นิยามคำว่า เยอะ ในความหมายนั้น สมมติว่าหมายถึง ดอกเบี้ยต่ำ ถ้าได้ 3-4% ก็พึงพอใจแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้บอกว่า ต้องพาผู้ลงทุนไปลงทุนในกองทุนหุ้นแล้ว ก็เป็นตัวอย่างของการพิจารณาว่าจะจัดสัดส่วนอย่างไร

เมื่อเดิมมีกองทุนเป็นรายตัวแล้วจำนวนมาก ผู้ลงทุนก็เริ่มปวดหัวว่าจะจัดพอร์ตกองทุนอย่างไรจึงจะเหมาะสม แล้วการจัดพอร์ตออกมาตรงตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมจริงหรือไม่ จึงมีการออกแบบลักษณะกองทุนรวมกองเดียวที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทผสมให้ หรืออาจจะเป็นกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไปลงทุนต่อในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ด้วยมีกรอบสัดส่วนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ไปลงทุน เช่น กองทุนนี้ลงทุนในหุ้นมาก กองทุนนี้ลงทุนในหุ้นน้อย แทนที่ผู้ลงทุนจะต้องไปจัดพอร์ตโดยเลือกเอง ก็เลือกลงทุนผ่านกองทุนในแบบที่ชอบเพียงกองเดียวไปเลย ซึ่งกองทุนบัวหลวงก็กำลังจะนำเสนอกองทุนประเภทนี้ออกมา เพราะโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เปิดมากขึ้น จึงมีการออกกองทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างๆ ของกองทุนบัวหลวงได้ โดยผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณา