Fund Comment กันยายน 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment กันยายน 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

“แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวจะยังคงผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ”

มุมมองตลาดตราสารหนี้

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน ก.ย. ปรับตัวในลักษณะแบนราบมากขึ้น (Flattening) เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 3 ปี ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง +1 ถึง +4 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลงในช่วง -1 ถึง -16 bps ภายหลังจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยแผนการประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งแนวโน้มการประมูลพันธบัตรรัฐบาลทั้งปีงบประมาณ 2564 ออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตร

สำหรับนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 2.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2.5 พันล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด (Expired) 1.3 พันล้านบาท

สำหรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% โดย ECB ระบุว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าระดับดังกล่าวจนกว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ ECB ซึ่งระบุให้อยู่ใกล้แต่ไม่เกิน 2%

นอกจากนี้ ECB มีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่1.35 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือน มิ.ย. 2564 หรือจนกระทั่ง ECB พิจารณาว่าวิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ที่ 0-0.25% และยังคงรักษาระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE) ที่ระดับเดิม โดย Fed ได้กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยและตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเหนือเป้าหมายที่ 2% เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ในระยะยาว

ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่ น (BoJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% พร้อมทั้งคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ระดับใกล้ 0% นอกจากนี้ BoJ ยืนยันว่าจะยังคงดำเนินมาตรการจัดสรรเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อไป และไม่เปลี่ยนแปลงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสภาพคล่องในระบบจะมีอย่างเพียงพอ

ด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันทื่ 23 ก.ย. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% โดย กนง. ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิม -8.1% เป็น -7.8% แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 ลดลงจาก +5.0% เป็น +3.6% จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และนโยบายการคลังจะต้องเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวจะยังคงผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้รวมถึงยังต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของภาครัฐ ความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดของ Covid-19 ระลอกที่ 2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ