ปัจจัยทั้งบวกและลบต่อกองทุนหุ้นไทย ไตรมาส 4/2563

ปัจจัยทั้งบวกและลบต่อกองทุนหุ้นไทย ไตรมาส 4/2563

ประเด็นเด่น

  • มาตรการการคลังยังจำเป็นในช่วงที่เหลือของปี
  • ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยยังมีเรื่องสภาพคล่องที่ล้นระบบ
  • ความคืบหน้าพัฒนาการวัคซีนโควิด-19 ในหลายบริษัทยังมีอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบัน
  • การเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Special Tourist VISA : STV)
  • ประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงขึ้น 
  • จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเร่งขึ้นอย่างน่ากังวล

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุนหุ้นไทย

(+) มาตรการการคลังยังจำเป็นในช่วงที่เหลือของปีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (ภายใต้มาตรการ 1 ล้านล้านบาท) เน้นชดเชยรายได้ เยียวยากลุ่มเปราะบางและ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทยอยประกาศออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 โดยล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบภาษี จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการคนละครึ่ง โดยรัฐบาลจะแจกเงินผู้ที่ได้รับสิทธิ์คนละ 3,000 บาท
  2. โครงการช๊อปดีมีคืนที่ประชาชนสามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท รวมถึงเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ special tourist visa

ทั้งหมดนี้อาจช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบริโภค การท่องเที่ยวได้บางส่วน

(+) ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยยังมีเรื่องสภาพคล่องที่ล้นระบบ โดยมีเงินฝากถึง 15.5 ล้านล้านบาท และรอเข้ามาในตลาดหุ้น เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง กดดอกเบี้ยออมทรัพย์เหลือ 0.25% โดย บลจ.บัวหลวงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ระดับ 0.5% ไปตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ลดลงเหลือ 0.25% โดยยังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต หากมีปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากการระบาดของโควิดรอบสอง หรือเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปรับลดลงได้อีกแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ 0.5%ก็ตาม จากแรงกดดันสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง

(+/-) ความคืบหน้าพัฒนาการวัคซีนโควิด-19 ในหลายบริษัทยังมีอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบัน

  • บริษัทได้รับการอนุมัติให้ใช้แล้วมีทั้งหมด 6 บริษัท แต่ทั้งหมดยังเป็นการอนุมัติให้ใช้ในวงจำกัด คือใช้เฉพาะประเทศตนเอง โดยไม่ได้รอจากผลการทดลองเฟส 3 ก่อน (Limited Use) คือ 4 บริษัทในจีน อาทิ CanSino Biologics (อนุมัติโดยกองทัพจีน), Sinovac Biotech และ Sinopharm (จีนอนุมัติในวงจำกัด) อีก 2 บริษัท Gamaleya และ Siberian Biotechnology เป็นของรัสเซีย
  • บริษัทที่อยู่ในการทดลองเฟส 3 (การทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 300-3,000 ราย เพื่อหาประสิทธิภาพของวัคซีน และหาผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดต่ำ (Rare Side Effect) ปัจจุบันมี 11 บริษัท ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติ สหรัฐฯ อังกฤษ ฯลฯ อาทิ Moderna, Pfizer, Novavax, AstraZeneca และ Johnson & Johnson ทั้งนี้ 2 รายสุดท้าย ได้หยุดการทดลองชั่วคราว เพื่อทบทวนด้านความปลอดภัย หลังพบผู้อาสาสมัครราย ล้มป่วยอย่างไม่ทราบสาเหตุ

สรุปโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 น่าจะมีน้ำหนัก หรือวิ่งแซงประเด็นเรื่องวัคซีน เพราะกรอบเวลาที่น่าจะเป็นในการผ่านให้ใช้และแจกจ่ายได้ในวงกว้างทั่วโลกยังคงที่เดิม 2H64 โดยประเด็นที่ให้น้ำหนักคือ การ Lockdown รอบ 2 หากเกิดขึ้นในหลายประเทศและระยะเวลานาน เชื่อว่าจะเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นต่อไป

ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19

ที่มา: New York Time, 16 ต.ค. 2563

(+/-) การเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Special Tourist VISA : STV) กลุ่มแรกจากจีนประมาณ 120 คน ในช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้ แม้จะมีมุมมองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวไทย แต่คงไม่สามารถคาดหวังผลเชิงบวกต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าวประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 คน/เดือน ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อน โควิด 19 ที่ตกอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคน/เดือน

(-) ประเด็นการเมือง ในกรณีที่มีการชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมือง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีความกังวลว่า สถานการณ์การชุมนุมจะลุกลามมากน้อยเท่าใด จะเป็นความเสี่ยงให้ทั้งตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย โดยอาจเห็นดัชนีปรับลดลงในระยะสั้นได้

(-) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเร่งขึ้นอย่างน่ากังวล รวมถึงเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศอีกครั้งที่จังหวัดตาก ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์และคาดยังกดดันการฟื้นตัวของ SET Index  ส่วนสถานการณ์ การ Lockdown กลับมาอีกครั้งหลังผู้ติดเชื้อในยุโรปและเอเซียยังเพิ่มขึ้นสูงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยังมีน้ำหนักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในไตรมาส 4 เพราะแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกในเดือน ก.ย. 2563 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุด ผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกรวมกันเกิน 33.6 ล้านราย และหากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อ รายใหม่ (New Case) เฉลี่ยเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. – ส.ค. 2563 โดยหลัก ๆ เพิ่มขึ้น จาก

  • ยุโรป เช่น สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ฯลฯ
  • เอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ฯลฯ

จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแรง และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้รัฐบาลบางประเทศกลับมา Lockdown ประเทศอีกครั้ง เช่น ในสเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส เมียนมา อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของของประเทศดังกล่าว