BF Monthly Economic Review – ต.ค. 2563

BF Monthly Economic Review – ต.ค. 2563

BF Economic Research

สรุปประเด็นที่น่าสนใจที่มีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงเดือนตุลาคมนี้มีอะไรบ้าง

เริ่มกันที่ประเด็นแรกคือ IMF ได้ออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งในปี 2020 และปี 2021 โดยในปี 2020 จะเห็นว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลกเศรษฐกิจหดตัว โดยทั่วกันซึ่งตลาดก็ได้รับรู้ประเด็นนี้ดีแล้ว

ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจปีหน้า 2021 เป็นเรื่องที่ตลาดให้ความสนใจ โดยปีหน้าของ IMF มีมุมมองใหม่ที่ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ขาฟื้นตัวซึ่งในหลายๆประเทศเป็นการฟื้นตัวในอัตราที่ค่อนข้างเยอะพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำด้วย และรวมถึงมองว่าการระบาดของโควิด-19 หลายๆ ประเทศสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ IMF มองว่าเศรษฐกิจโลกการเติบโตจะกลับมาอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกับปี 2019

เมื่อมาพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจปีหน้าที่ฟื้นตัว มีประเทศไหนที่น่าสนใจบ้าง พบว่า จีน และเวียดนามเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี การระบาดของโควิด-19ไม่สามารถทำอะไรทั้งสองประเทศนี้ได้ โดยจะเห็นว่าเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของจีนก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งตัวเลขรายเดือนและรายไตรมาสสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้จีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ฉะนั้นถ้าสนใจลงทุนในจีนตอนนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เพื่อไปรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะยิ่งส่งให้จีนไปต่อในปี 2021 สำหรับเวียดนามอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ จะพบว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวกับมาในอัตราที่โดดเด่น

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ต่างมีคำถามเข้ามาว่าจะสามารถลงทุนได้รึเปล่า ซึ่งอยากจะให้นักลงทุนติดตามปัจจัยที่มีผลต่อตลาด โดยจะมีเหตุการณ์หลักๆ หลายเหตุการณ์ที่อาจทำให้ตลาดผันผวนในบางช่วง โดยปัจจัยที่เราจับตามองมีดังนี้

ปัจจัยแรกการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. นี้ ซึ่งตลาดยังคงรอว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งอาจมีผลให้ตลาดหยุดชะงักไปบ้าง อย่างไรก็ตามความน่าสนใจยังมีอยู่จากแนวโน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งปัจจัยคือการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการประกาศล็อคดาวน์รอบที่ 2 ในบางประเทศ ตรงนี้สร้างความตกใจให้กับนักลงทุนพอสมควร ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นขยับตัวลดลงมา แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นธนาคารกลางของยุโรปได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าปลายปีนี้ถ้าสถานการณ์ยังคงแย่จะออกมาผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงท้ายของปี อย่างไรก็ตามมองว่ากลุ่มประเทศในยุโรปยังมีความน่าสนใจ หากในช่วงที่ชะงักลงมาลึกอาจจะเป็นจังหวะที่นักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนได้

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อนข้างช้า แต่เราก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว โดยมี 2 ประเด็นหลักที่น่าสนใจดังนี้

ประเด็นแรกการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นในเชิงของการบริโภค ทั้งโครงการชอปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้ปริมาณเงินที่เข้าสู่ระบบจะไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ถือเป็นเชื้อไฟที่ดีที่ทำให้จุดติดให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขยายตัวขึ้นมาได้ ดังนั้นจากที่หดตัวไปแล้วเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นมาได้ ประกอบกับหากดูตัวเลขยอดขายรถยนต์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราเริ่มเห้นอัตราการขยายตัวที่กลับมาเป็นบวกแล้วในส่วนของยอดขายรถยนต์ในประเทศ ซึ่งยอดขายรถยนต์ถือเป็นเครื่องชีวัดหลักที่เมื่อไหร่ก็ตามยอดขายรถยนต์และยอดขายบ้านมาสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเริ่มมาเช่นกัน

ประเด็นที่สองคือภาคการส่งออก โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาส่งออกทรุดตัวหนักและถือว่าแย่มาก ไม่ว่าจีนจะฟื้นตัวไปมากแค่ไหน แต่ไทยก็ยังคงไล่หลังอยู่มาก อย่างไรก็ตามตัวเลขการส่งออกล่าสุดติดลบน้องลงจากที่เคยติดลบตัวเลข 2 หลัก ตอนนี้ที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเหลือติดลบตัวเลขหลักเดียวแล้ว โดยคู่ค้าที่สั่งสินค้าจากไทยประเทศหลักๆ ได้แก่ สหรัฐกับจีน ซึ่งหมวดสินค้าที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาก็คือหมวดที่เกี่ยวกับ Work From Home และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เราหวังว่าโมเมนตัมตรงนี้จะมาช่วยไทยได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี ด้วยหลายประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียยังไม่สามารถเปิดไลน์การผลิตได้ เนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19ยังทำได้ไม่ดีเท่ากับไทย ในขณะที่ไทยควบคุมได้ดีจึงสามารถเปิดการผลิตได้ก่อน ดังนั้นสินค้าบางอย่างที่ไม่สามารถออเดอร์ประเทศอื่นๆในแถบนี้ได้ก็จะมุ่งตรงมาที่บ้านเรา

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาพอสมควรแล้ว ถือว่าค่อนข้างถูก ซึ่งหากนักลงทุนมองเห็นโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและต้องการที่จะลงทุนเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี มองว่าไตรมาส 4 นี้เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนหุ้นไทย