New Normal ของ Safe Haven Asset

New Normal ของ Safe Haven Asset

โดย..เศรณี นาคธน

กองทุนบัวหลวง

เป็นที่เข้าใจกันว่า Safe Haven Asset หรือสินทรัพย์ที่เปรียบเสมือนหลุมหลบภัย หมายความถึงสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย มีความผันผวนต่ำ มีสภาพคล่องสูง และสามารถรักษามูลค่าไว้ได้ ซึ่งนักลงทุนใช้เป็นเครื่องมือในการทำ Asset Allocation เพื่อใช้สำหรับรักษามูลค่าพอร์ตการลงทุนของตัวเองให้ยังคงมีกำไรหรือไม่ติดลบมากจนเกินไป ในยามที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเกิดความผันผวน ด้วยคุณสมบัติสำคัญ คือ มักจะมีการเคลื่อนไหวของราคาในทิศทางตรงกันข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยง หรือมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์เสี่ยงในระดับต่ำ ตัวอย่างของสินทรัพย์ดังกล่าว ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ เงินสด รวมถึง สกุลเงินที่ถูกใช้เป็น Reserved Currency หลักๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยนของญี่ปุ่น สวิสฟรังก์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงเดือน มี.ค. ของปี 2020 ซึ่งถือเป็นช่วงแรกเริ่มของการแพร่ระบาดได้สั่นคลอนบทบาทของ Safe Haven Asset ด้วย COVID-19 นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับโลก และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะมีความรุนแรงขนาดไหน นักลงทุนจึงเลือกเทขายทุกสินทรัพย์ทิ้งเพื่อสำรองสภาพคล่อง รวมถึง Safe Haven Asset หลายประเภท ยกเว้นเงินสดและค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักและเป็นสกุลเงินตั้งต้นในการลงทุนของนักลงทุนส่วนมาก (Based Currency) ด้วยสภาวะที่แปรเปลี่ยนไป ประกอบกับผลพวงจากวิกฤต COVID-19 นี้เอง ทำให้คุณลักษณะที่สำคัญบางประการของ Safe Haven Asset เปลี่ยนไป ซึ่งอาจทำให้ความปลอดภัยและการเป็นหลุมหลบภัยของสินทรัพย์เหล่านี้ถูกลดทอนลง ตัวอย่างเช่น

พันธบัตรรัฐบาล: จากเดิมที่ผู้ถืออาจได้รับทั้งกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและช่วยลดทอนความผันผวนในพอร์ตการลงทุนได้ แต่ด้วยบริบท ณ ปัจจุบันที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำมากและบางที่ถึงขนาดติดลบ ทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น อีกทั้งความผันผวนของพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คุณสมบัติที่จะลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลดลงไปด้วย นอกจากนั้นแล้ว การดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังระดับมหาศาล เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจส่งผลให้ระดับหนี้สินของแต่ละประเทศเร่งตัวขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องเสถียรภาพทางการคลังและความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

ทองคำ: เป็นสินทรัพย์ Save Haven ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีมากในปีนี้และสามารถขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ แต่ทว่าด้วยพิษของ COVID-19 ทำให้ความต้องการทองคำที่แท้จริงจากฝั่งผู้บริโภคลดลง โดยมีอุปสงค์จากฝั่งนักลงทุนและการเก็งกำไรเข้ามาแทนที่ ทำให้ราคาทองคำมีความผันผวนและตอบสนองกับข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้น และที่สำคัญ คือ มีแนวโน้มที่ราคาจะเคลื่อนไหวไปตามตลาดหุ้นมากขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ: ตราบใดที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นสกุลเงินที่ใช้เป็น Reserved Currency และใช้สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะยังคงสถานะเป็น Safe Haven Asset ที่สำคัญได้ต่อไป ทว่าคุณสมบัติของ Safe Haven Asset ด้านการรักษามูลค่าอาจลดทอนลงจากแนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก (Unprecedented Monetary Policy) รวมถึงการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของรัฐบาลสหรัฐ โดย Congressional Budget Office คาดว่า ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐต่อ GDP จะทะลุ 100% ในช่วงปี 2021 นี้ นอกจากนั้น จากสถานการณ์ Risk-Off ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้สภาพคล่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดช่วงนั้นขาดแคลนอย่างมาก จนกระทั่ง FED ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ไม่ว่าจะผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ หรือการเปิด Dollar Liquidity Swap Line กับธนาคารกลางอื่นๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนควรตระหนักในการนำ Safe Haven Asset มาใช้สำหรับการจัดพอร์ต ก็คือ

1.) นักลงทุนต้องทำความเข้าใจว่า Safe Haven Asset แม้จะมีความผันผวนต่ำกว่าสินทรัพย์เสี่ยง แต่ไม่ใช่ว่าจะติดลบไม่ได้

2.) ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ Safe Haven Asset มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอาจให้คุณสมบัติด้านการกระจายความเสี่ยงลดลง

3.) ไม่มีสินทรัพย์ไหนที่เป็น Safe Haven Asset ได้ในทุกสถานการณ์ และด้วยสถานการณ์และบริบท ณ ปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้

สำหรับกองทุนบัวหลวง เราเชื่อว่า การลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบกับการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุน