ซีรี่ส์: จีนผู้ชนะ (ตอนที่4)

ซีรี่ส์: จีนผู้ชนะ (ตอนที่4)

ประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือประเทศที่มีฐานการผลิต และการค้าที่มั่นคง แต่สหรัฐได้ทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไป

บริษัทอเมริกันเลือกที่จะย้ายฐานผลิตไปผลิตในประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเม็กซิโก หรือในจีน และคนอเมริกันเลือกที่จะบริโภคเกินตัวผ่านการนำเข้าสินค้าทำให้เกิดการขาดดุลการค้าที่มหาศาล การที่สหรัฐบริโภคเกินตัวได้ เพราะว่าสามารถใช้เครดิตดอลล่าร์ ซึ่งยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลกซื้อสินค้าโดยตรงได้ โดยไม่มีความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน

โมเดลของจีนในช่วงที่ผ่านมา คือเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนเพื่อการส่งออกโดยรัฐบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด จีนรับจ้างผลิตของทุกอย่างตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ เรียนรู้ที่จะก็อปปี้ แล้วค่อยๆพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยี่ของตัวเอง เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต้องเข้ามาลงทุนในจีนเพื่อส่งออก และเพื่อขายของในตลาดจีนที่มีประชากรกว่า1,300ล้านคน

โมเดลการผลิตเพื่อการส่งออกนี้เองทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐ ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมีมากที่สุดในโลก เคยแตะ $4 ล้านล้าน ตอนนี้เหลือประมาณ $3.1 ล้านล้าน เพราะว่าจีนใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อซื้อทอง หรือเพื่อการลงทุนในประเทศในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

สหรัฐรู้ตัวดีว่า ถ้าขืนบริโภคเกินควรอย่างนี้ตลอดไป วันนึ่งจะถูกจีนขึ้นมาทาบรัศมี เพราะว่าสหรัฐไม่มีฐานผลิตอะไรที่สำคัญ มีแต่การเงินผ่านระบบเครดิต การผลิตอาวุธ ซิลิคอน แวลเลย์ การเกษตรขนาดใหญ่ และการบริโภคภายในประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ต่อจีดีพี

รายงานความมั่นคงของสหรัฐทุกฉบับเขียนเหมือนกันว่าจีนกำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญ และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยยะสำคัญ สหรัฐจะถูกจีนแซงหน้าในด้านขนาดของเศรษฐกิจภายในปี 2029 หรือ 2030 สถานภาพของเงินดอลล่าร์จะหมองลง เงินหยวนหนุนโดยระบบเศรษบกิจและการค้าที่ใหญ่กว่าจะขึ้นมาท้าทายดอลล่าร์ในการเป็นเงินสกุลหลักของโลกแทน

จังหวะที่สหรัฐต้องปรับเปลี่ยนนโยบายหรือท่าทีต่อจีนมาในช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์พอดี สโลแกน Make America Great Again หรือ America First เป็นการสะท้อนความจริงที่ว่า สหรัฐกำลังเข้าสู่ยุคถดถอย ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะฟื้นประเทศ เพราะว่าชะล่าใจว่าจะเป็นมหาอำนาจโลกแต่ผู้เดียวตลอดไป โดยไม่มีประเทศใดสามารถท้าทายได้

ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกจึงตะลึง ตั้งรับไม่ทันกับนโยบายถอยหลังเข้าคลองของทรัมป์ที่ยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ รวมทั้งการใช้ลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับสหรัฐที่ได้ประโยชน์ และสามารถสร้างความเป็นมหาอำนาจจของตัวเองผ่านการค้าเสรี (free trade) มาตลอด

ทรัมป์พูดชัดเจนว่า ต้องการลดการขาดดุลการค้า และให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานกลับมาผลิตในประเทศ แต่จะทันการหรือไม่ เพราะว่าการพูดมันง่าย แต่การทำมันยาก การขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีชี้ให้เห็นว่าจีนเป็นต่อสหรัฐในด้านการค้า แม้ว่าสหรัฐจะเหนือกว่าในเรื่องการเงินที่มีดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกในมือ

ในปี 2017 สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าทั่วโลก $796,000 ล้าน เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้านี้ แต่สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนประเทศเดียวเพิ่มขึ้น 8.1% เหมือนกับเป็น $375,000 ล้าน

ตัวเลขนี้ทำให้ทรัมป์นั่งก้นไม่ติดเก้าอี้ เพราะว่าสโลแกน America First ของทรัมป์เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู แต่แก้ไขปัญหาไม่ได้

ทรัมป์โทรศัพท์ไปหาประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีนเพื่อที่จะแสดงความผิดหวังว่าตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับจีนสูงเกินไป ยอมรับไม่ได้ สีคงจะตอบกลับไปว่า เรื่องการขาดดุลการค้าเป็นปัญหาโครงสร้าง ต้องใช้เวลาในการแก้ไข บริษัทที่ส่งออกจากจีนกลับไปสหรัฐมีบริษัทเมริกันรวมอยู่ด้วยมากมาย ทรัมป์ได้แต่ขู่ว่าจะออกมาตรจะตอบโต้จีน รวมทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเหล็ก อลูมิเนียมจากจีน และลงโทษจีนที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ ล่าสุดทรัมป์มีการขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซล่าร์จากจีน 35% เพื่อเป็นการส่งสัญญานว่า เอาจริงแล้วนะ

ในสุนทรพจน์ของทรัมป์ที่สภาร่วม (State of the Union) ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์บอกว่ายุคของการยอมแพ้ทางเศรษฐกิจได้สิ้นสุดลงแล้ว เขาสัญญาว่าจะเจรจาให้ได้ข้อตกลงการค้าที่ดีขึ้น และระบุชื่อชัดเจนว่าจีนเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ

มาถึงวันนี้ จีนมีความเข้มแข็งมาก ทั้งด้านการเมืองและการทหาร และไม่ได้มีความยำเกรงสหรัฐแต่ประการใด เพราะว่าจีนมาถึงจุดที่ไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐก็อยู่ได้

จีนตอบโต้ทันควันด้วยการ ดำเนินการสอบสวนการใช้การอุดหนุน หรือการดัมพ์ราคาของสินค้านำเข้าข้าวฟ่างจากสหรัฐ

ได้เวลาประลองกำลังภายในทางการค้ากันแล้ว ต้องดูว่าใครจะอึดกว่ากันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิต/ผู้ขาย หรือระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้