เลือกลดหย่อนภาษีกับ 4 กองทุน SSF ของกองทุนบัวหลวง

เลือกลดหย่อนภาษีกับ 4 กองทุน SSF ของกองทุนบัวหลวง

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

กองทุนบัวหลวง

ช่วงปลายปีอย่างนี้   เชื่อว่าหลายคนต้องกำลังวางแผนภาษีกันอยู่แน่ๆ   และอาจจะยังคิดอยู่ว่าจะเลือกลงทุนอะไรดี?   ระหว่างกองทุนรวม SSF กับกองทุนรวม RMF   เนื่องจากวงเงินในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีของกองทุนทั้ง 2 ประเภท จะถูกนับรวมอยู่ในวงเงินเดียวกันนั่นคือ  ไม่เกิน 500,000 บาท เรียกได้ว่า อยู่ในตะกร้าใบเดียวกัน มิหนำซ้ำ!  ในตะกร้าใบเดียวกันนี้  ยังมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันแบบบำนาญอีกด้วย

ด้วยวงเงินในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีที่ค่อนข้างจำกัดนี้  ทำให้นักลงทุนต้องจัดสรรเงินลงทุนระหว่างกองทุนรวม SSF และ RMF ให้ดี

สำหรับวัยทำงานส่วนใหญ่มักจัดสรรเงินมาลงทุนในกองทุนรวม SSF มากกว่ากองทุนรวม RMF  เพราะเงื่อนไขในการลงทุนที่ไม่ได้กำหนดให้ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี   ทำให้นักลงทุนวัยทำงานอย่างเราสบายใจมากกว่า นอกจากนี้ ระยะเวลาในการถือครองเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็สั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวม RMF  (สั้นกว่าสำหรับผู้ลงทุนที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี)

ดังนั้น  กองทุนรวม SSF  จึงนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนลดหย่อนภาษี โดยปัจจุบันกองทุนรวม SSF มีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลาย แตกต่างจากกองทุนรวม LTF ในสมัยก่อนที่เน้นลงทุนเฉพาะหุ้นไทย และด้วยความหลากหลายของนโยบายกองทุนนี้เอง  ทำให้ผู้ลงทุนเลือกไม่ถูกว่าจะลงทุนกองทุนรวม SSF แบบไหนดี?

อย่างแรกที่อยากจะแนะนำให้ทำก็คือ  ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าต้องการลงทุนในประเทศ หรือ ต่างประเทศ เพื่อเป็นการตัดตัวเลือกที่ไม่ต้องการออกไปก่อน

ปัจจุบันกองทุนบัวหลวงมีกองทุนรวม SSF ทั้งหมด 4 กองทุน โดยกองทุนรวม SSF ที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดตอนนี้คือ   “กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นฟิวเจอร์เพื่อการออม (B-FUTURESSF)” เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศแบบ  Feeder Fund เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ หรือ B-FUTURE (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว ซึ่งกองทุนหลักนี้ ส่งเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน  Allianz Global Artificial Intelligence  ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องหรือใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ตั้งแต่การผลิต สินค้า และการบริการ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยลงทุนของกองทุน  Fidelity Fund – China Consumer Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ได้รับผลดีจากเศรษฐกิจใหม่ของจีน (New China)  ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสินค้าและบริการในกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม การผลิตสินค้าและการให้บริการที่ล้ำสมัย และล่าสุดก็มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Wellington Fintech Fund ที่มีการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในด้านต่างๆ

สำหรับกองทุน B-FUTURESSF นี้มีนโยบายจ่ายเงินปันผล จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง  เหมาะกับคนรุ่นใหม่หรือคนทุกวัยที่หัวใจทันสมัย  ก้าวไกลไปกับเทรนด์โลก Internet of things

กองทุนรวม SSF ที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจรองลงมาคือ กองทุนผสมที่นโยบายลงทุนเปิดให้ลงทุนในต่างประเทศได้  ชื่อว่า “กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัมเพื่อการออม (B-INCOMESSF)” เป็นกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก โดยส่วนที่เหลือจะนำเงินไปลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ   ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศตามหนังสือชี้ชวนระบุไว้ไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ แต่ในการบริหารจริงอาจมีสัดส่วนที่น้อยกว่านี้ โดยกองทุนนี้ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ด้วยความตั้งใจว่า ผู้จัดการกองทุนจะผสมผสานการลงทุนให้อย่างลงตัวตลอดระยะเวลาลงทุน  กองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง  และรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศได้

สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่อยากลงทุนในต่างประเทศ กองทุนบัวหลวงมีกองทุนรวม SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยอีก  2  กองทุน  ได้แก่  กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม (BEQSSF)  และกองทุนผสมบัวหลวง 70/30 เพื่อการออม (BM70SSF) โดยทั้ง 2 กองทุนนี้มีนโยบายในการเลือกหุ้นเหมือนกัน คือ ลงทุนในหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่จะแตกต่างกันตรงที่กองทุนผสมบัวหลวง 70/30 เพื่อการออม  จำกัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมีนโยบายจ่ายเงินปันผล ในขณะที่กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม ลงทุนในหุ้นไทยได้เต็มจำนวนและไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

สำหรับผู้ลงทุนที่อยากลงทุนในหุ้นไทย  ในตอนนี้นับเป็นโอกาสที่ดีในการสะสมหุ้นไทยในราคาย่อมเยา

โดยสรุปก็คือ  สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนกองทุนรวม SSF เพื่อลดหย่อนภาษี อย่างแรกที่ต้องทำคือ จัดสรรเงินลงทุนให้ถูกต้องตามสิทธิ จากนั้นตอบตัวเองให้ได้ว่าต้องการลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ เมื่อได้คำตอบแล้วก็เลือกลงทุนในกองทุนรวม SSF  ที่มีนโยบายลงทุน  สอดคล้องกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง

ทั้งนี้  ก็เพื่อความสบายใจของตัวเอง  เพราะอย่าลืมว่าเราจะต้องถือครองหน่วยลงทุน กองทุนรวม SSF นี้ไปอีก 10 ปี นับจากวันที่ลงทุน

แม้ว่าความเป็นจริงเราจะสามารถสับเปลี่ยนกองทุนรวม SSF ไปมาระหว่างกองทุนรวม SSF ด้วยกันได้   รวมถึงสามารถโอนย้ายกองทุนรวม SSF ข้ามบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ แต่ก็ไม่แนะนำให้สับเปลี่ยน/โอนย้ายบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสับเปลี่ยน/โอนย้าย มากเกินไปโดยไม่จำเป็น