ปีทองของอุตสาหกรรมถุงมือยาง

ปีทองของอุตสาหกรรมถุงมือยาง

โดย…เจฟ  สุธีโสภณ

กองทุนบัวหลวง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นปีทองของอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงมือยาง เพราะนับเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ใช้สำหรับการรับมือต่อสู้กับโรคระบาดชนิดนี้ ทั้งนี้ การระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางอยู่ในวัฎจักรขาขึ้น และส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่าง Demand และ Supply อย่างรุนแรง สนับสนุนให้ยอดขายและกำไรของธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งหมายความว่า ต้องใช้ระยะเวลา (Lead Time) หลังจากสั่งซื้อถึง 16-22 เดือนจนกว่าจะได้รับของ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดที่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้ 70% ของกำลังการผลิตถุงมือยางทั่วโลกหรือกว่า 220,000 ล้านชิ้นต่อปี มาจากผู้ผลิตถุงมือยางอันดับใหญ่สุด 5 อันดับแรกของโลก ซึ่งทั้ง 5 รายนี้ล้วนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ประกอบด้วย Top Glove, Hartalega, Supramax และ Kossan จากประเทศมาเลเซียและ Sri Trang จากประเทศไทย

ในด้านผลิตภัณฑ์จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตจากประเทศมาเลเซียมุ่งเน้นการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ หรือถุงมือไนไตรล์ ซึ่งให้ราคาขายที่สูงกว่าถุงมือยางธรรมชาติ เนื่องจากถุงมือยางธรรมชาติจะก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่ายกว่า จึงมีราคาขายที่ต่ำกว่าราคาของถุงมือไนไตรล์ และจากราคาขายที่ต่ำกว่านี้เอง ทำให้ถุงมือยางธรรมชาติได้รับความนิยมมากกว่าจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่มีอัตราการใช้ถุงมือยางต่อประชากรที่ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก

หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้ผลิตถุงมือยางต่างเร่งกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 6-8% และผลจากความต้องการที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตนี้เอง ส่งผลให้ราคาถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากราคาถุงมือยางธรรมชาติที่ปรับสูงขึ้นกว่า 2 เท่า จากที่ราว 20 เหรียญสหรัฐฯ (ต่อ 1,000 ชิ้น) ช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มาอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ (ต่อ 1,000 ชิ้น) ณ ปัจจุบัน

ในขณะที่ราคาถุงมือไนไตรล์เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจาก 23 เหรียญสหรัฐฯ (ต่อ 1,000 ชิ้น) มาอยู่ที่ 73 เหรียญสหรัฐฯ (ต่อ 1,000 ชิ้น) โดยสถานการณ์ที่ Supply ยังคงตึงตัวมากและมี Lead time ในการสั่งสินค้าที่ยาวนาน ทำให้ผู้ขายมีความได้เปรียบ จากการที่ผู้ซื้อบางรายยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เพื่อให้ได้ลำดับของการสั่งซื้อสินค้าที่เร็วขึ้น และจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ถุงมือยางซึ่งอุปสงค์มีความยืดหยุ่นน้อย สามารถปรับเพิ่มราคาขายได้โดยปราศจากอำนาจการต่อรองจากผู้ซื้อ

กองทุนบัวหลวงคาดว่า ความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกจะเติบโตขึ้น 25% ในปี 2563 และ 20% ในปี 2564 โดยน่าจะเติบโตได้ 12% ต่อปี เป็นอย่างน้อยหลังจากวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งยังคงสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในอดีตที่ 8% เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างระยะยาวของความต้องการการใช้ถุงมือ โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

  • มาตรฐานด้านสุขอนามัยที่สูงขึ้นและการให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพที่มากขึ้น ซึ่งสะท้อนในสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเทียบกับ GDP ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • กฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดมากขึ้น
  • ความต้องการใช้ถุงมือยางทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากขึ้น หลังการประกาศใช้มาตรฐาน USP<800> เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งของประกาศมีข้อกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องสวมใส่ถุงมือยาง 2 คู่เมื่อต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย
  • รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกต่างตั้งเป้าเก็บสต็อกสินค้าในระดับ 6-12 เดือน เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (เทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่มีการสต็อกสินค้าเพียงแค่ 1-2 เดือน)
  • สัดส่วนการใช้ถุงมือยางต่อประชากรในประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้มีสัดส่วนการใช้ถุงมือยางต่อประชากรในระดับต่ำ เพียง 8 และ 2 ชิ้นต่อประชากรหนึ่งคน ตามลำดับ อ้างอิงตัวเลขในปี 2562 หากสัดส่วนการใช้ถุงมือยางต่อประชากรในจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับอังกฤษ จะส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้นถึง 270,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งมากกว่าอัตราการใช้ถุงมือจากทั่วโลกในปี 2562 ที่ 263,000 ล้านชิ้นต่อปี

จาก Demand ถุงมือยางที่เติบโตสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตถุงมือยางต่างปรับเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งเราคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ 5 อันดับแรกของโลกจะเพิ่มการผลิตถุงมือยางขึ้นอีก 16,000 ล้านชิ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมในช่วงสิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 219,800 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 20% YoY และคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ 252,800 ล้านชิ้น / 290,200 ล้านชิ้น ในช่วงสิ้นปี 2564/65 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ +16% ต่อปี

เนื่องจากการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งการเพาะปลูกยาง ทำให้เราเห็นการขยายกำลังการผลิตนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น นำโดยผู้ผลิตในจีน มีแผนการขยายกำลังการผลิตเชิงรุกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ Intco Medical และ Blue Sail Medical ระดมเงินเพิ่มทุนเพื่อนำมาขยายกำลังการผลิตถุงมือยาง จากกำลังการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ในปัจจุบันที่ 1.9 หมื่นล้านชิ้น จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 หมื่นล้านชิ้น ในปี 2565

หากรวมกับกำลังการผลิตของผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะส่งผลให้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้นมากกว่า 20% YoY ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยระยะยาวที่ 10-11% ต่อปี

หากราคาถุงมือยางที่ระดับนี้สามารถเติบโตต่อเนื่องไปได้ตลอด กำไรของบริษัทถุงมือยางจะสามารถคืนทุนเงินลงทุนในอาคารและเครื่องจักรทั้งหมดที่ลงทุนภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งจะเห็นว่านี่เป็นภาวะที่กำไรสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของบริษัทประเภท Capital intensive ทั่วๆ ไปอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม เพียงแต่การลงทุนเครื่องจักรในอุตสาหกรรมถุงมือยาง ต้องใช้เวลาติดตั้งและทดสอบประมาณ 12-18 เดือน กว่าจะเริ่มผลิตจริงได้ ซึ่งทำให้ผู้ที่จะเข้ามาใหม่บางส่วนเกิดความลังเลใจว่า กว่าที่การลงทุนจะเริ่มดำเนินการได้นั้น ภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเปลี่ยนไปอย่างไร

ท่ามกลางกระแสข่าวการคิดค้นวัคซีนที่มีเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนได้ในปี 2564 จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราจะเห็นราคาถุงมือยางและอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทผลิตถุงมือยางเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว จุดสมดุลของราคาถุงมือยางจะไปอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะรูปแบบลักษณะพฤติกรรมการใช้ถุงมือยางอาจจะแตกต่างจากที่เคยเป็นมาโดยสิ้นเชิงเลยก็เป็นได้ การลงทุนในธุรกิจประเภทนี้จึงควรมีส่วนเผื่อความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยมองถึงกำไรในระยะยาวของบริษัทมากกว่ากำไรที่พุ่งสูงผิดปกติในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้