BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 รายประเทศ : จีน

BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 รายประเทศ : จีน

BF Economic Research

  • ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางเศรษฐกิจปี 2020-2021

ประเทศจีน เป็นประเทศที่ประสบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อนชาติอื่นๆ ในโลก และได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนม.ค. 2020 โดยเริ่มจากปิดเมือง Wuhan ในมณฑล Hubei ก่อนจะใช้โมเดลล็อคดาวน์นี้กับเมืองอื่นๆที่ประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเมื่อจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆทยอยกลับมาเดินเครื่อง เราจึงเห็นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นมา นักลงทุนจึงให้สมญานามกับจีนในช่วง COVID-19 ว่า FIFO (First-in, First-out) กล่าวคือจีนเป็นก่อนและหายก่อนนั่นเอง

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนได้สะท้อนไปยัง GDP จีนในช่วงไตรมาส 2/2020 -3/2020 โดยที่จีนสามารถขยายตัวได้ 3.2% YoY ในไตรมาส 2/2020 และบวกต่อเนื่องที่ 4.9% YoY ในไตรมาส 3/2020 เป็นผลให้ทั้งสามไตรมาสขยายตัว  0.7% YoY YTD หนุนโดยกลุ่มการผลิตพื้นฐานที่ขยายตัว 2.3% YoY YTD (เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.9%) ส่วนกลุ่มการผลิตขั้นกลางและกลุ่มภาคบริการสามารถพลิกกลับมาบวกที่ 0.9% YoY YTD (จากที่หดตัวในไตรมาสก่อน -1.9%) และ 0.4% YoY YTD (จากที่หดตัวในไตรมาสก่อน-1.6%) ถือว่าจีนสามารถฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

สำหรับ GDP ทั้งปี 2020-2021 เรามองว่าจีนจะขยายตัวที่ 2.0% และ 7.8% ตามลำดับ

  • แนวทางด้านนโยบาย 

ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทั้งด้านการคลังและการเงินในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังสรุปในตารางด้านล่าง และเมื่อผนวกกับการบริหารจัดการด้านการควบคุมโรคที่ดี เป็นผลให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2020  และมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

นโยบายผ่อนคลายทางการคลังและการเงินในช่วง COVID-19

ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้เรามองว่า ทางการจีนคงจะค่อยๆลดมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ และกลับไปดำเนินนโยบายตามภาวะปกติ โดยจีนจะเป็นประเทศแรกๆที่ถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงนโยบาย

ในระยะถัดไป ทางการจีนจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (2021-2025 Five-year Plan) ฉบับที่ 14 โดยทางการจีนให้คำมั่นว่าจะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี และเน้นให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพมากกว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แผนพัฒนาชาติฉบับล่าสุดนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีของชาติเป็นครั้งแรก โดยจีนจะยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเป้าหมายของประธานาธิบดี นอกจากนี้ จีนยังเผยวิสัยทัศน์ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยเชื่อมั่นว่าการสร้างความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในหลายๆ อย่างจะผลักดันให้จีนกลายเป็นผู้นำโลกด้านนวัตกรรม

สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น จีนจะใช้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ (Dual Circulation) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการขยายการค้าขายกับต่างชาติ โดยมีเป้าหมายเพิ่มตัวเลข GDP ให้ได้เกินกว่า 100 ล้านหยวนภายในสิ้นปีนี้ และยังตั้งเป้าจะเพิ่ม GDP ต่อหัวให้อยู่ในระดับประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2035

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน

  • ความเสี่ยง

ความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจจีนในปี 2021 ค่อนข้างที่จะอยู่ในระดับที่ทางการบริหารจัดการได้ เนื่องด้วยความเสี่ยงขาลงภายนอกประเทศ (External Downside Risks) น่าจะบรรเทาลงหากพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องด้วย วิธีการดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพรรคเดโมแครตจะไม่สร้างความขัดแย้งรุนแรงเท่ากับพรรครีพับลิกัน ทำให้ในปี 2021 นี้ เราคาดว่าคงจะไม่เห็นสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (ที่มุ่งเน้นการใช้การกีดกันทางภาษีและการกำหนดโควตานำเข้าในสินค้านำเข้าสำคัญ) อย่างที่ผ่านมา

นอกเหนือไปกว่านั้น เรายังมองว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2021 จะมีโอกาสเติบโตจากความเสี่ยงขาขึ้น (Domestic Upside Risks) เนื่องด้วยจีนบริหารจัดการโรคระบาดได้ดี ทั้งจีนเองยังมีความสามารถในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต ซึ่งในขณะที่ประเทศอื่นๆกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว จีนจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ยืนระยะได้ก่อน และพร้อมดำเนินหน้าเปิดไลน์การผลิตเพื่อรับคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ดี บางกลุ่มธุรกิจในจีนอาจจะเผชิญกับสำหรับความเสี่ยงขาลง (Domestic Downside Risks) หากทางการจีนลดการผ่อนคลายเชิงนโยบายลงภายหลังจากที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ธุรกิจเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้เช่นเคย

ตัวอย่างเช่นธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะเผชิญความท้าทายทั้งจากนโยบายการเงินโดยรวม และเกณฑ์การควบคุมเฉพาะกลุ่มธุรกิจ เนื่องด้วย กระทรวงที่อยู่อาศัยฯ ของจีนมีแผนที่จะประกาศใช้เกณฑ์ Three Red Lines*  เพื่อควบคุมการใช้สินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกณฑ์ดังกล่าวจะไปส่งผลกระทบต่อ Developer ที่ประสบกับปัญหาสภาพคล่องเป็นผลให้ Developer จะต้องปรับตัวหากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เช่นเดิม อาทิเช่น Evergrande Group ที่หาทางออกด้วยการทำ IPO เข้าตลาดหุ้นฮ่องกง ระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์ฯเพื่อลดภาระหนี้

  • BBLAM’s View

เศรษฐกิจจีนดูดีที่สุดในปี 2021 แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินที่อาจจะทยอยลดระดับการผ่อนคลายเข้าสู่ภาวะปกติและการใช้เกณฑ์เฉพาะอุตสาหกรรมที่อาจจะกระทบบางธุรกิจได้

[*] เกณฑ์ Three Red Lines นี้เป็นเกณฑ์ที่กระทรวงที่อยู่อาศัยและพัฒนาตัวเมืองกับชนบท ได้ประกาศในเดือน ส.ค. 2020 และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2021 เพื่อกำหนดเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Developer) โดยจะพิจารณาจาก 1) สัดส่วนของ Adjusted Liabilities/Assets ไม่เกิน 70%, 2) สัดส่วนของ Net Debt/Equity ไม่เกิน 100%, และ 3) สัดส่วนของ Net Liquidity/Short-term Debt ไม่เกิน 1x เท่า โดยทางการจะใช้อัตราส่วนการเงินทั้งสามข้อนี้เพื่อพิจารณาว่า Developer จะสามารถใช้สินเชื่อได้เท่าไร เช่น หาก Developer นั้นๆผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 3 ข้อ ก็จะใช้สินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 15% จากสินเชื่อคงค้างต่อปีแต่ถ้าหากผ่านเกณฑ์ 2 ข้อจะใช้สินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 10% ของสินเชื่อคงค้างต่อปี และถ้าผ่านเกณฑ์ 1 ข้อจะใช้สินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 5% ของสินเชื่อคงค้างต่อปี แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งสามข้อจะไม่สามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้

ติดตาม BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 ฉบับเต็มได้ที่ 1H2021 Economic Review Final.pdf