Fund Comment ธันวาคม 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment ธันวาคม 2563 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน ธ.ค. มีการปรับตัวลดลงตลอดช่วงอายุเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อน โดยพันธบัตรช่วงอายุไม่เกิน 10 ปี มีการปรับลดลงในช่วง -13 ถึง -23 bps ปัจจัยสำคัญมาจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่อยู่ในระดับสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการบริโภครวมถึงการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ ทั้งในส่วนสถาบันการเงิน และกองทุน

ขณะที่การประชุม กนง. ในวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด ซึ่งจะนำมาใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาด COVID-19 อีกครั้งในวงกว้าง ส่วนแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาส 2/21 ที่ประกาศโดย สบน. มีจำนวนทั้งสิ้น 1.65 แสนล้านบาท อยู่ในระดับที่ตลาดคาด และไม่มีผลต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน ธ.ค. เป็นจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1.1 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 5.6 พันล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 1.6 พันล้านบาท

นโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกตลอดทั้งปีที่ผ่านมา มีท่าทีในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงแนวโน้มดังกล่าวต่อไปในปี 2021 เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบ โดยในเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการ FOMC มติเป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ในระดับต่ำที่ 0-0.25% และระบุว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) และเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมุมมองของกรรมการ FOMC หรือ Dot Plot เชื่อว่า Fed จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย ในขณะเดียวกัน ทางสภาคองเกรสได้มีการอนุมัติงบประมาณเยียวยาทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ มูลค่ากว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและเร่งให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายโดยเร็ว

ขณะที่กลุ่มประเทศ EU ซึ่งยังคงมีอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. ในระดับติดลบ 0.3% ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ส่วนวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) มีการขยายเพิ่มอีก 5 แสนล้านยูโร เป็น 1.85 ล้านล้านยูโร รวมทั้งขยายเวลาในการรับซื้อพันธบัตรออกไปจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ ECB ยังดำเนินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. ที่ถึงแม้จะเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 10 เดือน แต่ยังคงอยู่ในระดับติดลบที่ -0.27% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับทั้งปีอยู่ที่ -0.85% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.19% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากราคาพลังงานที่หดตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังคงเปราะบาง ราคาสินค้าอื่นๆ ยังไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มาก แม้โปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้าต่างๆ จะสิ้นสุดลง รวมถึงรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจทั้งการท่องเที่ยวและการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องก็ตาม สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2021 ถึงแม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานในปีนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับจำกัด จากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2021 กองทุนบัวหลวงคาดว่า ภาพรวมของอัตราผลตอบแทนจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากสภาพคล่องในประเทศที่มีค่อนข้างสูง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งหลังการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ยังคงอ่อนแอหากยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อาจเป็นผลให้ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนกระแสเงินทุนระหว่างประเทศให้เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดตราสารหนี้ไทย