“ควอนตัมคอมพิวเตอร์” กำลังจะมา

“ควอนตัมคอมพิวเตอร์” กำลังจะมา

ไอบีเอ็มเร่งพัฒนาและผลิตควอนตัมคอมพิวเตอร์ เพื่อออกขายภายใน 1 ปีนี้

บริษัทไอบีเอ็มประกาศว่าจะเร่งพัฒนา “ควอนตัมคอมพิวเตอร์” เพื่อผลิตและนำออกจำหน่วยในท้องตลาด ในชื่อว่า IBM Q ในอีก 1 ปีข้างหน้า

IBM Q จะทำงานคิดคำนวณด้วยพลังแบบควอนตัม ผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ของไอบีเอ็ม ซึ่งจะเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่จะเปิดให้บริการนี้ และถือเป็นก้าวย่างสำคัญของเทคโนโลยีสาขานี้อีกด้วย

ควอนตัมคอมพิวเตอร์คือ คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลด้วยหลักการทางควอนตัมฟิสิกส์

ทฤษฎี Quantum Computing นั้นบอกว่า หากหน่วยเล็กที่สุดในคอมพิวเตอร์พื้นฐานคือ บิท (bit) หน่วยเล็กที่สุดของ Quantum Computing ใช้ชื่อว่า คิวบิท (Qubit) สถานะของบิทนั้นอาจเป็นได้ไม่ 1 ก็ 0 เท่านั้น แต่สำหรับคิวบิทจะมีมิติที่เหนือกว่าบิท คือสามารถแสดงสถานะเป็น 1 หรือ 0 ได้ หรืออยู่ระหว่าง 1 กับ 0 ได้ทุกๆ ค่า ส่งผลให้ Quantum Computing สามารถประมวลผลแบบขนานได้ หรือก็คือ “ควอนตัมคอมพิวเตอร์” สามารถประมวลผลคำสั่งนับล้านคำสั่งได้ในครั้งเดียว ขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องจัดการทีละคำสั่ง

ในเวลานี้มีการพัฒนาฮาร์ดแวร์ควอนตัมบ้างแล้ว เช่น D-Wave แต่ฮาร์ดแวร์นี้มีข้อจำกัดหลายอย่างในระบบการคำนวณ หรือจัดการกับข้อมูล ในขณะที่ IBM Q จะเป็นคอมพิวเตอร์แบบรวบยอด ซึ่งจะเข้ามาจัดการกับปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าระบบคอมพิวเตอร์ธรรมดาจะจัดการได้ ด้วยเหตุนี้ IBM Q จำเป็นต้องมีแอปพลิเคชันหลากหลายกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน

ไอบีเอ็มประกาศว่า ระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนาให้ทุกอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ใช้งาน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมทั้งยังพัฒนาฮาร์ดแวร์ควบคู่กันไปด้วย

ในขณะเดียวกัน กูเกิลประกาศเช่นเดียวกันว่า Quantum AI Laboratory ของตัวเอง กำลังพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำงานได้เหนือกว่าคอมพิวเตอร์ปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ได้ ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

ไม่น่าแปลกที่ไอบีเอ็มและกูเกิล ต่างประกาศข่าวเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์พร้อมๆ กัน ถึงแม้ว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวเครื่อง ยังไม่สำเร็จเป็นจริง อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทกำลังแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยจะให้บริการควอนตัมคอมพิวติ้งผ่านอินเทอร์เน็ต หรือระบบคลาวด์ของตัวเองก่อนในระยะแรก

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทไมโครซอฟต์ได้ว่าจ้างนักวิจัยที่มีชื่อเสียงหลายคน ให้มาร่วมกันพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ส่วนในจีน บริษัทอาลีบาบาของแจ๊ค หม่ายังได้ร่วมมือกับ Chinese Academy of Science เพื่อสร้างห้องแลปการคำนวณแบบควอนตัม

ควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมตัวเองได้ และจะนำไปสู่แนวคิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ที่คิดเองได้ในอนาคต (Quantum AI)

ทนง ขันทอง
กองทุนบัวหลวง