อัตราเงินเฟ้อไทยทั่วไปเดือน ม.ค. หดตัว -0.34% YoY คาด ก.พ. หดต่อ

อัตราเงินเฟ้อไทยทั่วไปเดือน ม.ค. หดตัว -0.34% YoY คาด ก.พ. หดต่อ

BF Economic Research

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของไทย หดตัว -0.34% YoY ในเดือน ม.ค. จากที่หดตัว -0.27% ในเดือน ธ.ค. จากปัจจัยหลักคือ ดัชนีราคาพลังงานที่ลดลง -4.8% YoY ขณะที่ดัชนีราคาอาหารสดค่อนข้าง Flat ที่ 0.6%

  • ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้น 0.21% (vs. 0.19% เดือนก่อน)
  • ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2021 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์มีการปรับเปลี่ยนปีฐานในการคำนวณเงินเฟ้อเป็นปี 2019 (จากปีฐานเดิม 2015) โดยเพิ่มน้ำหนักของดัชนีราคาอาหารสด (จาก 16.3% เป็น 20.8%) และดัชนีราคาพลังงาน (จาก 10.7% เป็น 11.7%) และจะปรับจำนวนสินค้าและบริการที่อยู่ในการคำนวณตะกร้าราคาเป็น 430 รายการจากเดิมที่ 422 รายการ โดยรายการสินค้าที่ได้นำเข้ามาใหม่เช่น หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำสีผม เครื่องสำอางประเภทรองพื้น และ เบี้ยประกันอัคคีภัย เป็นต้น (รายละเอียดคำชี้แจ้งดังแสดงhttp://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cpi/Cpig012564_TG.pdf)
  • กระทรวงพาณิชย์มองว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. จะยังคงติดลบอยู่แต่จะค่อยๆปรับสูงขึ้นในช่วงถัดไป และได้คาดการณ์ค่ากลางเงินเฟ้อปี 2021 ไว้ที่ 1.2% โดยเป็นผลของฐานที่ต่ำในปี 2020 และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น (ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบดูไบถูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 52 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในปี 2021F หรือเพิ่มขึ้น 24% YoY) ขณะที่ราคาอาหารสดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงด้านสภานการณ์ภัยแล้งที่ยังอยู่ในระดับสูง (ระดับน้ำในเขื่อนหลักยังอยู่ในระดับต่ำ และการเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงปลายเดือน ก.พ.)

การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 4.9 หมื่นตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่มองว่าจะเพิ่มขึ้น 1.05 แสนตำแหน่ง โดยการจ้างงานฟื้นตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังจากที่ลดลงมากถึง 2.27 แสนตำแหน่งในเดือนก่อน จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังคงรุนแรงและมาตรการ Lockdown ยังมีผลบังคับใช้ในหลายรัฐ ก่อนที่จะเริ่มมีการผ่อนปรนลงบ้างในช่วงปลายเดือน

  • โดยการจ้างงานได้ปรับเพิ่มขึ้นในหมวดให้บริการช่วยเหลือชั่วคราว (Temporary Help Services) ที่เพิ่มขึ้น 8.1 หมื่นตำแหน่ง รวมทั้งการจ้างงานภาครัฐที่เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นตำแหน่ง
  • ขณะที่การจ้างงานในหมวดหลักอื่นๆ ส่วนใหญ่ลดลงและเป็นวงกว้างมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน  นำโดยการโรงแรมและพักผ่อน (-6.1 หมื่นตำแหน่ง vs. -5.36 แสนรายเดือนก่อน) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19, ค้าปลีก (-3.8 หมื่นตำแหน่ง vs. +1.35 แสนตำแหน่ง เดือนก่อน), บริการสุขภาพและให้ความช่วยเหลือทางสังคม (-4.1 หมื่นตำแหน่ง vs. +3.9 หมื่นตำแหน่งเดือนก่อน), การขนส่งและคลังสินค้า (-2.8 หมื่นตำแหน่ง vs. -2.4 หมื่นตำแหน่งเดือนก่อน), การผลิต (-1.0 หมื่นตำแหน่ง vs. +3.1 หมื่นตำแหน่งเดือนก่อน) และก่อสร้าง (-3.0 พันตำแหน่ง vs. +4.2 หมื่นตำแหน่งเดือนก่อน)
  • ด้านอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ม.ค. ลดลงเป็น 6.3% จาก 6.7% ในเดือนก่อน และที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่มีแรงงานออกจากตลาดแรงงาน โดยอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor Participation Rate) ได้ปรับลดลง -0.1ppt เป็น 61.4%
    • ส่วนอัตราค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) เดือน ม.ค. ขยายตัว 5.4% YoY เท่ากับเดือนก่อน แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 5.0% โดยเพิ่มขึ้นมากในหมวดค้าปลีก ไอที และบริการทางการเงิน
  • อนึ่ง ขณะนี้ สภาสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน USD1.9trn ที่ปธน. Joe Biden เสนอ ภายหลังจากที่ปลายสัปดาห์ก่อน สภาได้มีมติเห็นชอบให้สามารถใช้กระบวนการ Budget Reconciliation ในการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่อนุมัติผ่านสภาง่ายขึ้น เนื่องจากจะใช้เสียงวุฒิสภาเพียง 51 เสียงในการผ่านเท่านั้น หรือใช้เสียงวุฒิสมาชิกพรรค Democrat ทั้ง 50 เสียง และเสียงของรองปธน. นาง Kamala Harris อีกหนึ่งเสียง ในขณะที่หากใช้กระบวนการปกติ ต้องใช้เสียงในวุฒิสภาอย่างน้อย 60 เสียง ซึ่งเท่ากับว่าต้องอาศัยเสียงจากพรรค Republican 10 เสียงด้วย
  • ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคาดจะอนุมัติบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ภายในกลางเดือน มี.ค. ก่อนที่การให้สวัสดิการว่างงานพิเศษที่อนุมัติปลายเดือน ธ.ค. 2020 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 มี.ค.