กองทุนความยั่งยืนในสหรัฐอเมริกามีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

กองทุนความยั่งยืนในสหรัฐอเมริกามีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

โดย…ทนง ขันทอง

ในปีที่ผ่านมา กองทุนยั่งยืน (sustainable funds)ในสหรัฐอเมริกามีเงินไหลเข้าทั้งกองทุนเปิดและกองทุนอีทีเอฟเป็นตัวเลขสุทธิมากถึง 51,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 21,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 และ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018

ตามรายงานของมอนิ่งสตาร์ เรื่อง A Broken Record: Flows for U.S. Sustainable Funds Again Reach New Heights เมื่อวันที่  28 ม.ค. 2021 ระบุว่า เงินลงทุนที่ไหลเข้ากองทุนยั่งยืนมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของเงินลงทุนที่ไหลเข้าสุทธิในกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ในสหรัฐฯ สำหรับปี 2020

ณ สิ้นปี 2020 สหรัฐฯ มีกองทุนยั่งยืนอยู่ 369 กองทุน ซึ่งโดยมากแล้วเป็นกองทุนหุ้นที่ส่วนมากรู้จักในนามกองทุน ESG หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในบริษัทที่มีการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นพิเศษ โดยที่กองทุนยั่งยืนทั้งหมด มีขนาดทรัพย์สินรวมกัน  236,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 70% จากปี 2019

เงินลงทุนส่วนมากไหลเข้ากองทุนอีทีเอฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสสุดท้าย หรือตลอดปี 2020 โดยกองทุนอีทีเอฟสามารถดึงดูดเม็ดเงิน 2 ใน 3 ของทุกๆ ดอลลาร์สหรัฐที่มีการลงทุน ซึ่งกองทุนอีทีเอฟส่วนมากจะมีการบริหารในเชิงรับ หรือ passive และกองทุนยั่งยืนส่วนมากจะลงทุนในหุ้น

การขยายตัวของการลงทุนในกองทุนยั่งยืนส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเติบโตของกองทุนไอแชร์ (iShares) ที่บริหารจัดการโดยบริษัท แบล็คร็อค

ไอแชร์ คือ การนำกองทุนอีทีเอฟหลายๆ กอง มารวมกันเพื่อสะดวกในการบริหาร กองทุนไอแชร์ส่วนมากจะเกาะติดดัชนีตลาดตราสารหนี้ หรือดัชนีตลาดหุ้น ถึงแม้ว่าบางกองไอแชร์อาจจะบริหารในเชิงรุก หรือ active

ในปี 2020 ไอแชร์มีการเปิดตัว 13 กองทุนยั่งยืนในรูปแบบกองทุนอีทีเอฟ รวมทั้ง 4 กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) เพิ่มเติมจาก 14 กองทุนที่มีอยู่เดิมแล้ว

กองทุนไอแชร์กินส่วนแบ่งการตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในกองทุนยั่งยืนทั้งหมด ในขณะเดียวกันกองทุนหุ้นสามารถดึงดูด 90% ของเงินลงทุนที่ไหลเข้าในกองทุนยั่งยืนทั้งหมดในไตรมาสที่ 4 รวมทั้งในปีที่ผ่านมา

ถ้าจะว่าไปแล้ว แบล็คร็อค บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีนโยบายยกเครื่องยุทธศาสตร์การลงทุน ด้วยการหันมาเน้นการลงทุนในบริษัทหรือกิจการที่เน้นความยั่งยืนที่โดดเด่นที่สุด

ในปี 2020 นายลาร์รี่ ฟิงค์ ซีอีโอของแบล็คร็อค ซึ่งมีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เขียนจดหมายประจำปีถึงผู้บริหารของบริษัทว่า กำลังมีการเปลี่ยนในเชิงปัจจัยพื้นฐานทางด้านการเงิน โดยที่การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศกำลังจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กำหนดอนาคตระยะยาวของบริษัทต่างๆ

เขา บอกว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนที่เน้นความยั่งยืน มีเหตุมีผลไม่เพียงแค่ในแง่มุมทางสังคม แต่ครอบคลุมถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศสร้างความเสี่ยงในระยะยาว และบริษัทต่างๆ ไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเสี่ยงนี้อีกต่อไป

แบล็คร็อค มีแผนที่จะเปิดตัวกองทุน ทั้งประเภทเชิงรุกและเชิงรับ ที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจแบบยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ