ซีรี่ส์: จีนผู้ชนะ (ตอนที่9)

ซีรี่ส์: จีนผู้ชนะ (ตอนที่9)

เปโตรหยวนกำลังก่อรูปร่างขึ้นมาแล้ว หลังจากมีการเตรียมการมานาน จีนมีความอดทนสูง ถ้าไม่พร้อมจะไม่ทำ แต่ตอนนี้จีนมีความพร้อมแล้วที่จะท้าทายเปโตรดอลลาร์ ด้วยแผนการการสร้างเปโตรหยวน เพื่อที่จะแข่งกับเบนช์มาร์คของราคาน้ำมันของตลาดเบรนท์ หรือเวสท์เท็กซัสที่โค๊ดราคาน้ำมันดิบเป็นเงินดอลลาร์

บลูมเบิร์กรายงานว่า ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จีนจะเปิดการเทรดน้ำมันฟิวเจอร์สเป็นครั้งแรกในรูปเงินหยวนในตลาดเซี่ยงไฮ้ เปโตรหยวนจะถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในวันนั้นเอง

ถ้าหากว่านักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมเทรดน้ำมันฟิวเจอร์ในรูปเงินหยวนมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งราคาน้ำมันที่โค๊ดในตลาดตลาดเซี่ยงไฮ้ในรูปเงินหยวนจะกลายเป็นเบนช์มาร์ค หรือราคามาตรฐานน้ำมันที่ใช้ในการอ้างอิงสำหรับผู้ที่ซื้อขายน้ำมัน ความเคยชินจะเกิดขึ้น และเงินหยวนจะค่อยๆกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลก โดยจีนจะต้องเปิดเสรีระบบการเงิน และเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าสหรัฐไปแล้ว โดยปีที่แล้วจีนนำเข้าน้ำมัน 8.43 ล้านบาเรลล์ จีนเป็นจ้าวแห่งการค้าโลกไปแล้ว โดยมูลค่าการค้าของจีนใหญ่กว่าของสหรัฐไปแล้วเหมือนกัน แม้่ว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนจะยังคงเป็นเบอร์ 2 ตามหลังเศรษฐกิจสหรัฐอยู่

แต่มีเหตุผลอะไรที่จีนจะต้องซื้อน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์? มีเหตุผลอะไรที่จีนต้องทำการค้าระหว่างประเทศเป็นเงินดอลลาร์? มีเหตุผลอะไรที่จีนต้องซื้อทองหรือสินภ้าโภคภัณฑ์ต่างๆเป็นดอลลาร์

ถ้าจีนยังคงใช้ดอลลาร์ต่อไป เท่ากับว่าจีนจะถูกบีบให้อยู่ใต้วัฏจักรการขึ้นลงของดอลลาร์ (boom/bust cycle) ภายใต้การกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางของสหรัฐ การปลดแอกจากอิทธิพลของดอลลาร์จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากว่าจีนต้องการเป็นมหาอำนาจโลกด้านเศรษฐกิจ

แม้แต่ Alastaire Crooke อดีตสายลับ MI-6 ของอังกฤษ นักการทูต นักคิด นักเขียนออกมายอมรับว่าเปโตรดอลลาร์ ซึ่งเป็นเสาหลักของมหาอำนาจทางการเงิน เศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐฯตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา กำลังจะเข้าสู่จุดจบเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ตรึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียและจีน และการค้าที่ไม่ใช้ดอลลาร์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Crooke บอกว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินโลกกำลังเกิดขึ้นจาก3ปัจจัยหลักที่จะสร้างวิกฤติต่อดอลลาร์ที่สมบูรณ์คือ

  1. ความพยายามของรัสเซียและอิหร่านที่จะหลีกเลี่ยงการแซงชั่นจากโลกตะวันตก
  2. นโยบายดอกเบี้ยต่ำของเฟดเดอรัล รีเชิร์ฟของสหรัฐฯ และ
  3. ความต้องการของจีนที่จะซื้อน้ำมันเพิ่มจากตะวันออกกลาง

นโยบายการแซงชั่นของสหรัฐฯต่อประเทศที่เป็นเป้าที่ต้องถูกทำลายทางเศรษฐกิจกลับมีผลตรงกันข้ามคือทำให้เกิดมีการค้าขายโดยไม่ต้องพึ่งพาดอลลาร์ รัสเซียและอิหร่านจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการค้าที่ใช้ดอลลาร์อีกต่อไป ไม่ว่าจะมีการใช้เงินหยวนของจีน หรือเงินรูเบิ้ลของรัสเซียมากขึ้นในการค้า และจะมีผลกระทบต่อการบริหารสำรองน้ำมันของอิหร่าน ซีเรียและอิรัค ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญ ผลที่ตามมาคือการแซงชั่นของสหรัฐฯไม่ได้ผล และเกิดมีการค้าขายน้ำมันนอกเกมดอลลาร์ หรือการควบคุมของสหรัฐฯขึ้นมา

ประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียได้กล่าวว่า รัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกต้องการลดบทบาทการผูกขาดของดอลลาร์ในตลาดน้ำมันโลก นอกจากนี้รัสเซียยังได้ร่วมมือกับกลุ่ม BRICS ในการสร้างระบบการเงินโลกใหม่ที่จะใช้เงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ เนื่องจากรายได้จากการส่งออกจากน้ำมันเทียบเท่า 60-70% จากรายได้ทั้งหมดของรัสเซีย จึงไม่น่าแปลกใจที่ปูตินไม่ต้องการเป็นเบี้ยล่างของดอลลาร์ตลอดไป

 

การแซงชั่นเป็นตัวเร่งให้ปูตินต้องนำพารัสเซียออกจากระบบดอลลาร์ นี้ปูตินได้เซ็นสัญญาขายก๊าซระยะยาว 2 ฉบับกับจีนโดยการซื้อขายเป็นเงินหยวน และไม่เกี่ยวข้องกับดอลลาร์ นอกจากนี้ปูตินยังได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับอินเดียและอิหร่าน รัสเซียจะช่วยอิหร่านสร้างโรงงานผลิตพลังงานนิวเคลียร์

นี้คือสาเหตุหลักของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย โดยมียุโรปเข้าพวกหนุนสหรัฐฯในการแซงชั่นรัสเซีย โดยอ้างวิกฤติยูเครน เพราะว่าถ้ารัสเซียสามารถจับมือกับจีนในการเพิ่มการค้านอกระบบดอลลาร์ได้ จะเป็นจุดจบของเปโตรดอลลาร์

เปโตรดอลลาร์คือระบบการเงินโลกที่มาแทนข้อตกลง Bretton Woods ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นสหรัฐฯเป็นฝ่ายชนะสงครามและมีทองคำสำรองมากที่สุดในโลก มีการออกแบบโครงสร้างการเงินใหม่โดยที่ดอลลาร์จะมีค่าคงที่ไม่ผันผวนเพราะว่าผูกกับทองคำที่ค่า $35 ต่อออนซ์ เงินสกุลอื่นๆของโลกกลายเป็นบริวารของดอลลาร์ด้วยการผูกค่าเงินตัวเองกับดอลลาร์และกับทองอีกต่อหนึ่ง มีการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกเพื่อเป็นสถาบันหลักในการดูแลดอลลาร์ เสถียรภาพของโครงสร้างการเงินโลก เพราะว่าภายใต้ระบบมาตรฐานทองคำนี้ รัฐบาลหรือธนาคารกลางจำต้องมีวินัยทางการคลังและการเงิน

แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯมีการใช้จ่ายขาดดุลเพิ่ม และมีการทำสงครามเวียดนาม ประเทศต่างๆที่ถือดอลลาร์มีการเอาดอลลาร์มาแลกทองคำเพราะว่าไม่มั่นใจในเงินเฟ้อที่ตามมาจากการเพิ่มดอลลาร์เข้าไปในระบบเพื่อสนองการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อทองร่อยหรอลงประธานาธิบดีนิกสันในปี 1971 ยกเลิกที่จะผูกดอลลาร์กับทองคำ คือปิดหน้าต่างของเฟดเดอรัล รีเชิร์ฟไม่ให้คนถือดอลลาร์มาและทองได้อีกต่อไป ถือว่าเป็นการผิดชำระหนี้ (default)

แต่สหรัฐใช้ความเป็นมหาอำนาจเพื่อที่จะรักษาความเป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไป ในปี 1973 สหรัฐฯทำข้อตกลงกับซาอุดิฯ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางให้ขายน้ำมันเป็นดอลลาร์อย่างเดียว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสหรัฐฯจะสนับสนุนรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจต่อไปผ่านการขายอาวุธ การหนุนหลังด้านการทหาร และความมั่นคง ในเมื่อประเทศต่างๆต้องซื้อน้ำมัน จึงจำเป็นต้องสำรองดอลลาร์ หรือขายของให้ได้ดอลลาร์ ทำให้เกิดมีดีมานด์สำหรับดอลลาร์หรือเปโตรดอลลาร์ที่จะยังคงความเป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไป ทั้งๆที่สหรัฐฯพิมพ์ดอลลาร์ออกมาโดยไม่มีทองคำหนุนหลัง หรือหลักทรัพย์อะไรหนุนหลัง ตั้งแต่นั้นมาโลกเข้าสู่ระบบดอลลาร์กระดาษที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนี้

การที่จีนเริ่มขยับการเทรดทองเป็นหยวน เทรดน้ำมันฟิวเจอร์สเป็นหยวน ทำมาค้าขายเป็นเงินสกุลหยวนกับระเทศคู่ค้ามากขึ้น เท่ากับว่าจีนเริ่มมีอำนาจการต่อรองที่สูงขึ้น ผ่านพลังทางเศรษฐกิจและการค้า โดยมีแสนยานุภาพทางทหารหนุนอีกต่อหนึ่ง ที่ผ่านมาโลกคุ้นเคยกับโครงสร้างพื้นฐานระบบอเมริกันและดอลลาร์ แต่ต่อไปโลกจะเริ่มเคยชินกับโครงสร้างพื้นฐานระบบจีน และหยวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีมหาอำนาจผู้เดียวอีกต่อไป (unipolar world) แต่มีมหาอำนาจหลายฝ่าย (multipolar world)