BMAPS พอร์ตลงทุนสำเร็จรูปสำหรับวัยทำงาน

BMAPS พอร์ตลงทุนสำเร็จรูปสำหรับวัยทำงาน

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPT™

กองทุนบัวหลวง

วัยทำงานที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนอย่างพวกเรา มักจะได้รับคำแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุน ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเภทกัน หรือที่เรียกกันว่า Asset Allocation   เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ใด  สินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป โดยแนวคิดนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า  ไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดอยู่ตลอดเวลา เพราะสินทรัพย์การลงทุนแต่ละชนิดก็มีจังหวะการขึ้นลงตามสภาวะของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การจัดพอร์ตลงทุน จึงเป็นการจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์แต่ละชนิดให้เหมาะสม โดยคาดหวังให้ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมาย  ภายใต้ความเสี่ยงที่เราแต่ละคนสามารถยอมรับได้    

ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน  แตกต่างกันด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน   ประสบการณ์ในการลงทุน สถานะการเงินส่วนบุคคล  รวมไปถึงเป้าหมายในชีวิตของแต่ละช่วงวัย โดยวัยทำงานส่วนใหญ่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ปานกลางค่อนข้างสูง เนื่องจากอายุยังไม่มาก ยังทำงานได้อีกนานจึงทำให้สามารถลงทุนระยะยาวได้ ดังนั้น ในการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง จึงเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากได้  แต่การจัดพอร์ตลงทุนของวัยทำงานก็ยังมีอุปสรรค นั่นคือ “ไม่มีเวลา”  และ “ไม่มีเงินมากพอ”

Reformat_Topic2.jpg

อุปสรรคที่วัยทำงานต้องยอมรับเป็นอย่างแรกก็คือ  เราไม่มีเวลา ที่จะศึกษาข้อมูลสินทรัพย์การลงทุนได้ทุกตัว ได้ทุกประเภท สมมติว่าเราต้องการจัดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย และทองคำ  โดยเน้นสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยให้มากหน่อย วัยทำงานอย่างเราก็คงไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลหุ้นคราวละหลายๆ ตัวได้  จนในหลายครั้งอาจพบว่า  กว่าจะศึกษาข้อมูลครบถ้วน เวลาก็ล่วงเลยไปจนไม่ใช่จังหวะที่ดีในการลงทุนหุ้นตัวนั้นแล้ว ไหนจะยังต้องศึกษาข้อมูลสินทรัพย์การลงทุนอื่นอย่างตราสารหนี้  ทองคำ   ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า วัยทำงานไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล  และติดตามข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้อย่างใกล้ชิด  เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันหมดไปกับการทำงาน

อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่สำหรับวัยทำงานก็คือ เราไม่มีเงินมากพอ ที่จะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆ ประเภทได้ สมมติว่าเราสามารถลงทุนได้เดือนละ 10,000 บาท  จัดพอร์ตลงทุนโดยเน้นหุ้นไทย 70%  ตราสารหนี้ 25% และทองคำ 5% คำถามก็คือ  เงินลงทุน 7,000 บาท สามารถซื้อหุ้นดีๆ
ได้สักกี่ตัวกัน? เงินลงทุน 2,500 บาท จะไปหาซื้อตราสารหนี้ได้หรือ?   และจะมีร้านทองที่ไหน ยอมขายทองให้เราด้วยเงิน 500 บาท? ด้วยเหตุนี้  วัยทำงานส่วนใหญ่จึงเลือกจัดพอร์ตลงทุนด้วยกองทุนรวมแทนการลงทุนตรงในสินทรัพย์ด้วยตัวเอง เพราะกองทุนรวมมีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลาย   มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหารจัดการให้  และใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก โดยหลาย บลจ. ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นในแต่ละครั้งแค่หลักร้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจัดพอร์ตลงทุนของวัยทำงานส่วนใหญ่  เมื่อจัดสรรเงินลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทไปแล้ว    เรามักกลับมาดูความคืบหน้าของผลตอบแทนรวมเท่านั้น โดยไม่ทันได้สังเกตว่า มูลค่าของเงินลงทุนที่ เติบโต หรือ ลดลง  ในแต่ละกองทุนนั้น ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทที่ได้จัดพอร์ตไว้ก่อนหน้านี้เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

ยกตัวอย่าง  เงินลงทุน 10,000 บาท จัดพอร์ตลงทุนโดยลงทุนกองทุนรวมหุ้นไทย 70% (7,000 บาท) กองทุนรวมตราสารหนี้  25% (2,500 บาท)  และกองทุนรวมทองคำ 5% (500 บาท) หลังจากนั้น 1 ปี  เงินได้เติบโตกลายเป็น 8,000 บาท  2,550 บาท  และ 550 บาท ตามลำดับ สัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็น 72.07% กองทุนรวมตราสารหนี้ 22.97%  และกองทุนรวมทองคำ 4.96% ทำให้ภาพรวมของพอร์ตลงทุนนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างไม่ทันรู้ตัว

ด้วยเหตุนี้ วัยทำงานจึงควรต้องพิจารณาปรับสมดุลของพอร์ตลงทุน (Rebalancing Portfolio) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อกำหนดและควบคุมความเสี่ยง    โดยสินทรัพย์การลงทุนบางประเภทที่มีสัดส่วนเพิ่มเกินจากที่ได้ตั้งใจไว้  (กรณีนี้คือ กองทุนรวมหุ้นไทย) ก็อาจพิจารณาขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน เพื่อเป็นการปรับลดสัดส่วนของกองทุนรวมหุ้นไทยในพอร์ตลงทุน หรืออาจใช้วิธีเติมเงิน  คือนำเงินใหม่เข้าไปลงทุนเพิ่มในกองทุนรวมที่มีสัดส่วนการลงทุนลดลงไป ได้แก่ กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมทองคำ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า  SAA : Strategic Asset Allocation  คือพิจารณาขายคืนสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกินขึ้นมา  หรือเลือกซื้อเพิ่มในสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนลดลงไป  เพื่อให้พอร์ตลงทุนกลับสู่สมดุลตามเติม

การจัดพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเองผ่านกองทุนรวมสามารถทำได้ง่ายก็จริง แต่ก็อาจจะไม่ได้สะดวกสำหรับทุกคน เพราะต้องยอมรับว่า วัยทำงานอย่างเราไม่ค่อยสะดวกในการติดตามความเคลื่อนไหวของพอร์ตลงทุนด้วยตัวเองสักเท่าไร  และนั่นจึงเป็นที่มาของกองทุนรวมแบบผสมจากกองทุนบัวหลวง ที่มีชื่อว่า  BMAPS : Bualuang Multi – Asset Portfolio Solutions ซึ่งมีนโยบายลงทุนผสมผสานระหว่างหุ้น  ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์  ทองคำ  สามารถลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ  โดยกองทุนรวม BMAPS  ได้กำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์หลักคือ  หุ้นเอาไว้ที่ 25%, 55%, 100% กลายเป็น BMAPS25, BMAPS55, BMAPS100  ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเอาไว้อย่างเป๊ะๆ แต่มีนโยบายจำกัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเอาไว้ไม่ให้เกิน 25%, 55%, 100% ก็พอที่จะช่วยให้เราสามารถควบคุมความเสี่ยงจากการลงทุนได้

     นอกจากนี้ ยังมีผู้จัดการกองทุนช่วยพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อรักษาโอกาสในการผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับเราด้วย สำหรับวัยทำงานส่วนใหญ่สามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง ขอแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวม  BMAPS55 และ BMAPS100  เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนให้มากขึ้น ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งละ 500 บาทเท่านั้น