อาชีพของคนไทยหลังเกษียณ (ตอนที่1)

อาชีพของคนไทยหลังเกษียณ (ตอนที่1)

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

อายุของการเกษียณในสังคมไทย โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่อายุ 60ปี ซึ่งด้วยวิทยาการทางการแพทย์ คนวัย 60 ยังคงแข็งแรง สมองยังคงสดใส ความจำยังดี และเป็นผู้มีไฟ อยากทำงาน แม้จะด้วยข้อจำกัดของระบบที่มีการกำหนดตัวเลขเกษียณชัดเจน เช่น 60ปี บางเดี๋ยวนี้องค์กรจำนวนมากก็มีการต่ออายุผู้เกษียณออกไป เนื่องจากยังคงเสียดายประสบการณ์และความรู้ของบุคคลเหล่านั้น แต่ก็จะเป็นลักษณะ case by case และก็มีองค์กรอีกมากที่มีผู้มีความรู้ความสามารถ แต่จำเป็นต้องให้เกษียณเพื่อเปิดโอกาศให้คนรุ่นถัดไปได้ขยับขึ้นตามความรู้ความสามารถ

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เกษียณที่ยังมีไฟ ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถทำได้ มีประโยชน์กับประเทศ กับสังคม รวมถึงยังมีความสามารถในการหารายได้ ประกอบอาชีพ โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมา ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ทำมาตลอดหรือไม่ก็ตาม

อาชีพที่แนะนำไว้หารายได้สำหรับคนวัยเกษียณ อาจแบ่งได้เป็น 3 แบบ

 แบบที่ 1 อาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสามารถด้านวิชาชีพ งานที่เคยทำ

ชัดเจน ง่ายๆ  เราทำงานมาทั้งชีวิต ย่อมมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ในวัยที่ยังพอมีแรง สมองยังสดใส ก็อาจรับงาน ที่ปรึกษาในธุรกิจที่เคยทำงาน หรือเป็นกรรมการบริษัท    คอยให้คำแนะนำผู้บริหาร โดยใช้ประสบการณ์ของเรา

หรือใช้ความรู้ความสามารถโดยไม่ต้องไปยุ่งกับบริษัท คือออกมาทำอิสระ เช่น ครูที่เกษียณแล้ว รับจ้างสอนพิเศษเด็กๆ ในละแวกบ้านที่เราอยู่ แบบนี้สามารถบริหารเวลาและภาระงานได้ง่าย ว่าจะรับแค่ไหนที่เราทำได้ ไม่เหนื่อยเกินไป  ทำให้มีความสุขและยังสร้างรายได้ให้กับตัวเอง หรือหลายคนที่เป็น specialist ประกอบอาชีพอิสระ อาจจะใช้ความสามารถสอนคนอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นครูเสมอไป เช่น จิตกร ช่างภาพ ก็เปิดสอนวาดรูป อบรมถ่ายภาพ

สำหรับคนที่พอมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ก็ลองเปิดเพจในเฟสบุ๊คคอยให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ๆ ในวิชาชีพของตนเอง เช่น กฎหมาย วิทยาศาสตร์ เป็นการแบ่งปันความรู้ให้กับผู้คน  คนสมัยนี้อ่านหนังสือไม่แตก คือไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ เน้นแต่ข้อสรุป ซึ่งการเน้นสรุปบางทีก็ขาดที่มาที่ไปที่จะเข้าใจในเชิงลึก หรือแก่นจริงๆ ของเนื้อหานั้นๆ ก็ต้องอาศัยผู้ใหญ่วัยที่ยังศึกษา อ่านหนังสือกันเยอะๆ มาช่วยย่อยในมุมลึกให้ง่ายต่อการเข้าใจ แล้วแบ่งปันเรื่องราวให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ ง่ายที่สุดก็ผ่านเฟสบุ๊ค ซึ่งเป็นที่ที่คนยุคใหม่ใช้กันมากที่สุด  ให้มองว่าเราได้แบ่งปัน ได้ช่วยคนให้เข้าในในความรู้ต่างๆ และเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารของเรา เพราะ Specialist จำนวนมาก เก่งและมีความรู้ แต่ไม่ชินกับการสื่อสารให้คนทั่วไป เพราะทำงานก็เจอแต่คนสายงานเดียวกัน เลยสื่อสารกับแบบมืออาชีพ คุย 3 คำรู้เรื่อง  แต่การสื่อกับสังคม อธิบายคนที่ไม่รู้เรื่อง ต้องฝึกฝน ทำความเข้าใจ เป็นการพัฒนาสมอง  ถ้าคุณทำได้ดี เดี๋ยวก็มีคนมาชวนไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ แต่ถ้าไม่มีคนมาจ้าง ก็ถือว่าแม้จะไม่ได้เงิน แต่ก็ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า