เรื่องของดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจและตลาดหุ้น กับกองทุนรวม

เรื่องของดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจและตลาดหุ้น กับกองทุนรวม

สรุปความสัมภาษณ์ เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

เรื่องของดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจนั้น มีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนย่อมส่งผลต่อการลงทุนผ่านกองทุนรวมด้วย

หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่ผ่านมา ในวันที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลต่างๆ พยายามที่จะพยุงประเทศของตัวเอง ช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หรือการใช้จ่าย ด้วยการอัดเงินเข้าสู่มือประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ประเทศอื่่นก็ทำเช่นกัน เพื่อให้มีเงินไปจับจ่าย เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดการชะงักงัน ซึ่งก็มีต้นทุน เพราะการอัดเงิน ก็มีส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องไปกู้เงินมา

ในส่วนของภาคธุรกิจ ก็ได้รับการช่วยเหลือด้วยมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ยืดหยุ่นขึ้น และมีมาตรการสำคัญทางการเงินด้วยการลดดอกเบี้ย รวมทั้งยืดระยะเวลาในการชำระเงินต้น ซึ่งดอกเบี้ยเป็นต้นทุนทางธุรกิจ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยก็เป็นการช่วยลดต้นทุนให้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่มีต้นทุน และเป็นการเข้าแทรกแซงกลไกต่างๆ เพื่อพยุงตลาดในภาวะที่ไม่ดี

เมื่อประเทศต่างๆ มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในปีที่ผ่านมาด้วยการแทรกแซงตลาด มีการลดต้นทุนด้วยการลดดอกเบี้ย เมื่อวัคซีนเริ่มมา เริ่มมีการฉีดให้กับประชาชน ก็ทำให้คนเริ่มมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมา แม้ระหว่างทางอาจจะมีข่าวคราวฝุ่นตลบเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนบ้าง แต่โดยรวมทุกคนเชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมา หลายประเทศคาดหวังเรื่องการกลับมาเปิดประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความคิดตามมาว่า เงินน่าจะเริ่มกลับมาหมุนเวียน เศรษฐกิจน่าจะเริ่มดี เงินเฟ้อก็น่าจะกลับมาด้วย

ทั้งนี้ จากการที่ปีที่แล้วหลายประเทศลดดอกเบี้ยจนต่ำมากๆ หลายประเทศอัตราดอกเบี้ยติดลบ หรืออยู่ในระดับ 0% เมื่อรวมกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้น ก็จะทำให้เห็นภาพที่ขัดกัน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปสถานะโครงสร้างทางการเงินของประเทศอาจมีปัญหาได้ ลองคิดง่ายๆ สมมติเก็บเงินไว้ซื้อข้าวของ 100 บาท ปรากฎว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ในขณะที่เงินเฟ้อเด้งขึ้นไป 2% แปลว่า เราเก็บเงินผ่านไป 1 ปี เงินจะมีมูลค่า 101 บาท แต่ราคาข้าวของจริงจะมีมูลค่า 102 บาท เท่ากับเงินเราจำนวนเท่าเดิมไม่พอใช้จ่าย เพราะผลตอบแทนที่แท้จริงจากการฝากเงินไว้กับธนาคารติดลบ

จากปัจจัยนี้เองก็จะทำให้คนถอนเงินออกจากประเทศที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ ก็จะมีปัญหาเสถียรภาพค่าเงินและปัญหาอื่นๆ ตามมา ด้วยเหตุนี้เมื่อเงินเฟ้อพุ่งขึ้น หลายประเทศจึงตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก็หมายถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจและธุรกิจเริ่มกลับมา และเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลตามมา

ในอีกมุม ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำมากๆ ในฐานะผู้ออมเงิน ซึ่งมีการจัดสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เมื่อในส่วนของเงินฝากได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยลดลง ก็ทำให้พอร์ตโดยรวมมีผลตอบแทนไม่น่าพึงพอใจ สิ่งที่นักลงทุนทำจึงมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยกลับมาเพิ่มขึ้น ก็ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ค่อยๆ ดึงเงินกลับจากสินทรัพย์เสี่ยงมาลงทุนในตราสารหนี้แทน เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความกังวลว่า จะทำให้หุ้นตกหรือไม่

ทั้งนี้ ปีที่แล้วการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดดเด่นมาก จากการเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 จึงมีเม็ดเงินอัดเข้าไปลงทุน ทำให้ราคาวิ่งขึ้นมาสูงมาก ส่วนจีน เป็นประเทศซึ่งจัดการกับโควิด-19 ได้ดี จึงมีความโดดเด่น ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก เป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นบวก มีเรื่องราวให้เงินวิ่งเข้าไปลงทุนเช่นกัน ดังนั้นในวันที่เกิดปัญหาความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขึ้น จึงทำให้คนตัดสินใจขายสินทรัพย์เหล่านี้ออกมาเพื่อทำกำไรก่อน เพราะทั้งเทคโนโลยีและจีนก็อยู่บนราคาที่ค่อนข้างสูง

ความกังวลที่ตามมา คือ เมื่อหุ้นทั้ง 2 กลุ่มนี้ปรับลงแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เรื่องนี้ เราต้องพิจารณาถึงเหตุผลที่เราลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีและจีน เพราะเรามองว่าเป็น theme อนาคต ที่เทคโนโลยีเกี่ยวข้องไปกับทุกอย่างบนโลก ส่วนจีนคือมหาอำนาจใหม่ที่จะมา ดังนั้นการที่หุ้นเหล่านี้ปรับขึ้นไปมากแล้วปรับลงมา อาจจะปรับพอร์ตการลงทุนได้บ้าง ถ้าหากเป็นนักลงทุนที่มีวินัยในตัวเอง เวลาที่หุ้นปรับขึ้นมามากแล้วต้องปรับพอร์ตระหว่างทางเรื่อยๆ ไม่ต้องปล่อยรอจนกระทั่งตกลงมาแล้วค่อยทำ

โดยรวมแล้วหุ้นเทคโนโลยีและจีนยังลงทุนได้ เพียงแต่ต้องเลือกให้มากขึ้น โดยหุ้นเทคโนโลยีมีหลายแบบ เทคโนโลยีที่ปรับขึ้นมาแรงเพราะเต็มไปด้วยความคาดหวัง แต่ผลประกอบการยังไม่สนับสนุน ก็อาจต้องระวังให้มาก ขณะที่ เทคโนโลยีซึ่งเป็นพื้นฐานที่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี หรือ B-INNOTECH ลงทุน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ชิป ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5G หรือคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งมีความต้องการพื้นฐาน ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ ก็เป็นเรื่องราวของเทคโนโลยีที่ลงทุนได้

เช่นเดียวกับจีน ถ้าเราเชื่อในการเติบโต พลังการบริโภค การเปลี่ยนแปลงของประชากรจีน โดยเฉพาะเทคโนโลยีจีน หรือเฮลท์แคร์ของจีน อย่างที่กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) ลงทุน ก็สามารถลงทุนได้ โดยกองทุนนี้ มีผู้รับดำเนินงานการลงทุนในต่างประเทศ (Outsourced fund manager) คอยแนะนำและคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจให้ เป็น Active Fund

สรุปแล้วในภาวะที่เต็มไปด้วยความกังวล คำแนะนำคือ การลงทุนต้อง selective มากขึ้น หันมาเลือกกลุ่มหุ้นที่ราคายังปรับตัวตามหลังอยู่ (laggard) แต่มีเรื่องราวความน่าสนใจลงทุนที่ชัดเจน มีพื้นฐานของราคา พื้นฐานกิจการที่แข็งแกร่ง ซึ่งลักษณะแบบนี้ กองทุน Active fund มีผู้จัดการกองทุนคอยปรับเปลี่ยนการลงทุนให้จะตอบโจทย์ในจังหวะแบบนี้มากกว่า การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนตามเรื่องราวของเศรษฐกิจ