เงินคริปโตกับความเสี่ยงของการถูกลงดาบ

เงินคริปโตกับความเสี่ยงของการถูกลงดาบ

โดย…ทนง ขันทอง

มีบุคคลที่สำคัญ 2 คนออกมาแสดงความเห็นในเชิงลบกับเงินคริปโตที่กำลังบูมมากในตลาด ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันมากขึ้นว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุน

คนแรกคือนาย Agustin Carstens ผู้จัดการทั่วไปของ Bank for International Settlements ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นที่รู้กันว่าเป็นธนาคารกลางของธนาคารกลางทั่วโลก

อีกคนหนึ่งคือนาย Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินภายใต้การบริหาร 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นาย Carstens มองว่า เงินคริปโตถูกใช้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย และสมควรที่จะต้องถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น

เขา บอกว่า เงินคริปโตถูกใช้เพื่อการอาร์บิทราจ หรือการเลี่ยงกฎหมาย ในขณะที่กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน และกฎหมายที่สกัดการไฟแนนซ์การก่อการร้ายไม่ได้อยู่ในสารบบของเงินไซเบอร์

บิตคอยน์ ซึ่งเป็นคริปโตหลักของตลาดคริปโตทำราคาสูงขึ้น 80% ตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดที่ทำเอาไว้ที่ 61,000 ดอลลาร์สหรัฐ บิตคอยน์อ่อนค่าลงไปแล้วประมาณ 12% ท่ามกลางความผันผวน และการเก็งกำไรอย่างเข้มข้น

Carstens มองว่า เงินคริปโตถูกใช้เพื่อการเก็งกำไร และไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อธนาคารกลางที่ออกเงินสกุลต่างๆ และระบบการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากว่ายังมองไม่เห็นว่าเงินคริปโตจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเงินที่แท้จริงได้

ส่วนนาย Dalio มองว่า มีความเป็นไปได้ที่บิตคอยน์จะถูกตราว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยรัฐบาล คล้ายๆ กับเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ แบนคนอเมริกันไม่ให้ถือครองทองคำ

Dalio บอกว่า ในหนังสือของเขาที่กำลังจะได้รับการตีพิมพ์ The Changing World Order รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมาย Gold Reserve Act of 1934 เพื่อที่จะห้ามไม่ให้คนอเมริกันถือครองทองคำ เพราะว่าไม่ต้องการให้ทองคำมาแข่งกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเครดิตในฐานะที่เป็นตัวรักษาค่าของความมั่งคั่ง

บิตคอยน์เป็นทางเลือกของการลงทุนออกจากดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีการก่อหนี้สูง ให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ มีการเพิ่มสภาพคล่องมาก รวมทั้งการใช้เงินมโหฬารเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

Dalio เชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะห้ามถือครองบิตคอยน์ก็ได้ เพราะว่าทุกๆ ประเทศต้องการควบคุมการผูกขาดการคอนโทรลซัพพลายและดีมานด์ทางการเงิน และไม่ต้องการให้มีเงินประเภทอื่นมาแข่งขันด้วย เพราะว่าอาจจะทำให้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้

เขา คิดว่า ต่อไปข้างหน้า บิตคอยน์อาจจะถูกแบนเหมือนกับครั้งหนึ่งที่ทองคำถูกห้ามถือครองก็ได้

ในขณะเดียวกัน นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัท เทสลา เขียนทวิตเตอร์ในวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยข้อความสั้นๆ ว่า “คุณสามารถซื้อรถยนต์เทสลาด้วยบิตคอยน์ได้แล้ว”