BMAPS : เศรษฐกิจฟื้น เงินเฟ้อมา หุ้นเทคยังน่าลงทุนหรือไม่

BMAPS : เศรษฐกิจฟื้น เงินเฟ้อมา หุ้นเทคยังน่าลงทุนหรือไม่

สรุปความสัมภาษณ์

คุณ มทินา วัชรวราทร, CFA®
AVP, Portfolio Management
กองทุนบัวหลวง

เราคงได้ยินสำนักเศรษฐกิจหรือสถาบันต่างๆ กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจในปีนี้กันไปมากแล้ว ในครั้งนี้จึงขอสรุปเจาะประเด็นชัดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วงกันอยู่
Sector Rotation หรือการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนจากหุ้นในอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปยังอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว คนเริ่มอยากออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยสัญญาณที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว ที่ทางผู้จัดการกองทุนใช้พิจารณา ได้แก่ การใช้น้ำมัน จำนวนผู้โดยสารที่เดินทาง และยอดค้าปลีกที่กระเตื้องขึ้น เมื่อสัญญาณกลุ่มนี้เริ่มมา ซึ่งก็คือความต้องการมา และราคาเริ่มปรับขึ้น เงินเฟ้อก็ต้องตามมาด้วย ซึ่งสิ่งที่สะท้อนว่าเงินเฟ้อเริ่มมา ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น หมายถึงต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่างๆ

Sector Rotation คือ การย้ายไปลงทุนในกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เช่น น้ำมัน ธนาคาร สินค้าฟุ่มเฟือย โดยกลุ่มนี้ได้ประโยชน์ทั้งจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น ในขณะที่ หุ้นเทคโนโลยีที่คนมีอยู่ในพอร์ตกลับไม่ได้ประโยชน์ เพราะว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับขึ้น หุ้นเทคโนโลยีก็ถูกเทขายออกมา ส่วนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว มีการเปิดเมือง กลุ่มเทคโนโลยีก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เหมือนกลุ่มน้ำมัน ธนาคาร แม้ว่าคนยังใช้เทคโนโลยีอยู่ก็ตาม จึงเป็นที่มาของการเทขายหุ้นเทคโนโลยี แล้วหันกลับไปลงทุนในหุ้นวัฎจักร หรือหุ้นที่ปรับตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจนั่นเอง

เมื่อเจาะลึกลงไปมากขึ้นเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี จะพบว่า ปีที่ผ่านมาในพอร์ตลงทุนของนักลงทุนแทบทุกคนต้องมีหุ้นเทคฯ ภาษาทางเทคนิคก็คือ over-owned ที่ทุกคนมีอยู่ในพอร์ตแล้วเตรียมรอขาย ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เช่น โรงแรม สายการบิน เรือสำราญ โรงภาพยนตร์ เมื่อถามว่าในปีที่ผ่านมามีใครกล้าซื้อหรือไม่ ก็จะพบว่า อาจยังไม่มีมาก เรียกว่า under-owned หรือหุ้นที่นักลงทุนอาจจะยังไม่มีในพอร์ต

เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ไฟเซอร์เริ่มประกาศว่ามีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เงินเริ่มไหลออกจากหุ้นกลุ่มเทคฯ มายังหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่แท้จริง

ทั้งนี้ หากไปพิจารณาในเชิงมูลค่า จะเห็นว่า ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของหุ้นในตลาด S&P 500 ทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 20 เท่า แต่ P/E ของหุ้นกลุ่มเทคฯ ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณเกือบ 30 เท่า ถือว่า Valuation gap ห่างอยู่มากพอสมควร และเมื่อไปพิจารณามูลค่าจากข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่แบงก์ ออฟ อเมริกา จัดทำขึ้นมา พบว่า มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของหุ้นเทคฯ ในเวลานี้ คิดเป็น 33% เมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปของหุ้นทั่วโลก ซึ่งระดับ 33% นี้ มากกว่าช่วงดอทคอม ซึ่งในเวลานั้น มาร์เก็ตแคปของหุ้นเทคฯ อยู่ที่ประมาณ 29% ของหุ้นทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการขายหุ้นเทคฯ กลับไปลงทุนหุ้นวัฎจักร

มีคำถามจากนักลงทุนตามมาว่า การขายหุ้นเทคฯ กลับไปลงทุนในหุ้นวัฎจักรรอบนี้จบหรือยัง และเข้าลงทุนได้หรือไม่ ในประเด็นนี้อยากจะย้ำเตือนนักลงทุนว่า ตลาดหุ้นในระยะสั้นถูกขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่อง นโยบายการคลังและการเงิน แต่ในเชิงการลงทุนระยะยาว สามารถใช้วิธีการจัดสรรเงินลงทุน หรือ Asset Allocation มาช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้

ในการทำ Asset Allocation ลงทุนทั่วโลก เรามองหาประเทศที่ยังมีนโยบายที่เอื้ออำนายให้นักลงทุนอยู่ ซึ่ง หากมองไปที่หุ้นจีน จะพบว่า จีนค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น รัฐบาลมีเป้าหมายทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบไม่ร้อนแรงจนเกินไป เพราะต้องการสร้างเสถียรภาพมากกว่า โดยจีนมีการค่อยๆ ดูดซับสภาพคล่องกลับ ทั้งยังพยายามเตือนนักลงทุน แสดงความเป็นห่วงภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นักลงทุนค่อนข้างระมัดระวังเรื่องนี้ รวมถึงระวังความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องที่ถูกดึงกลับด้วย ดังนั้น เชื่อว่าตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนกำไรจากการลงทุนในหุ้นจีนมาหมดแล้ว จึงจัดว่าหุ้นจีนอยู่ในกลุ่มค่อนข้าง over-owned เช่นเดียวกับหุ้นเทคฯ นักลงทุนอาจจะต้องลงทุนในจีนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

เมื่อไปกางแผนที่ดูจุดอื่น จะพบจุด ว่าสหรัฐฯ น่าสนใจ พลังของ 3J ได้แก่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ผนึกกำลังกัน ทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะออกมาเร็วๆ นี้ อีก นอกจากนี้ก็ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่ปรับลดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapeing) ยังไม่มีความกังวลภาวะฟองสบู่ และไม่กลัวภาวะเงินเฟ้อ โดยมองว่ เงินเฟ้อเป็นเพียงระยะสั้น ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาให้น้ำหนักหุ้นสหรัฐฯ กลับเข้ามาในพอร์ตบ้าง

ส่วนประเด็นหุ้นเทคฯ จะลงทุนได้อีกหรือไม่ ได้เวลากลับเข้าไปลงทุนหรือยัง อาจจะต้องพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรกอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Real Yield เมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงขยับขึ้นแรงหรือรวดเร็ว ก็จะเป็นสัญญาณให้ต้องระมัดระวังว่า หุ้นเทคฯ อาจจะโดนเทขายออกมาอีก และถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กับอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง ยังไม่มีเสถียรภาพก็มีสิทธิที่เงินอาจจะยังไหลออกจากหุ้นเทคฯ ได้อยู่ ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ หากเงินจะไหลกลับเข้าหุ้นเทคฯ อีกรอบ นอกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีมีเสถียรภาพแล้ว ต้องเกิดเหตุการณ์ เช่น ฉีดวัคซีนไปแล้วป้องกันไม่ได้ หรือยังติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น ทำให้คนต้องกลับไปทำงานจากที่บ้าน ซึ่งปัจจัยนี้เรามองว่าโอกาสการเกิดค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ ซึ่งก็น่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในช่วงเวลานั้นด้วย ก่อนจะเข้าสู่ภาวะมีเสถียรภาพ และในจังหวะนั้นเองจะเป็นช่วงที่น่าเข้าไปซื้อหุ้นเทคฯ ประเมินแล้วก็คือประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ คงต้องจับตาดูตลาดให้ดี

แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถจับจังหวะเวลาในตลาดได้อย่างแม่นยำ แต่เมื่อได้ข้อมูลนี้ไป ก็อาจจะพอได้แนวคิดแล้วว่า ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ อาจต้องจับจ้องตลาดไว้ เตรียมเงินสำรองไว้เพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มีเงินเข้าไปซื้อหุ้นเทคฯ ในช่วงจังหวะเวลานั้นได้

มีคำพูดหนึ่งที่ บิล เกตต์ เคยกล่าวไว้ว่า We always overestimate the change that will occur in the next two years and underestimate the change that will occur in the next ten. Don’t let yourself be lulled into inaction. (ที่มา : www.thequotes.in) ก็คือ ระยะสั้นเราไป overestimate หรือไปประมาณสูงเกินไปว่า จะต้องเกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่เมื่อมองไปไกลๆ ระยะ 10 ปี กลับไป underestimate หรือประเมินค่าต่ำเกินไป

เราเชื่อว่าไม่ว่าจะมีไวรัสเข้ามาอีกรอบเราจะเลิกใช้แพลตฟอร์มซูมในการประชุมออนไลน์หรือไม่ หรือจะเลิกฟัง Spotify รึป่าว เพราะฉะนั้น เรามองว่า คุณสมบัติที่ดีของนักลงทุนก็คือ ความสามารถในการมองระยะยาวได้ ดังนั้นถ้าเราค้นพบแล้วว่า ถึงอย่างไร เทคฯ ก็ยังเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราต่อไป และจะอยู่กับเรามากขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าเรามองต่อไปว่าในโลกนี้ เทคฯ จะเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจ หรือบริษัทส่วนใหญ่จะกลายเป็น house of tech ก็ไม่ควรไป underestimate กับหุ้นเทคฯ ซึ่งเป็น theme การลงทุนในระยะยาว

สิ่งสำคัญ คือ เมื่อมองไประยะไกลแล้วเราค้นพบว่า theme การลงทุนในหุ้นเทคฯ ใช่สำหรับเรา สำหรับโลก ต้องลงทุนและมีติดพอร์ตไว้ แต่ในภาวะเช่นนี้การปรับฐานยังไม่จบ ก็แนะนำการลงทุนแบบบริหารจัดการเงินโดยทยอยลงทุนหลายๆ ครั้ง เมื่อเรารู้ว่าปีนี้ความผันผวนสูง ความเสี่ยงสูง หากเราเก็บสะสมเงินไว้บ้างก็จะมีโอกาสเข้าซื้อของถูกได้

โดยรวมแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในปีนี้ ก็ยังน่าสนใจมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล เพราะเมื่อเราหันกลับมาดูที่พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งคนอาจจะติดภาพว่า หากต้องการหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ให้ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในสภาพแวดล้อมแบบเวลานี้ที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ก็ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ติดลบได้

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เฟดตั้งใจผลักดันเงินมาอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยง ในมุมของ Asset Allocation ก็อย่าไปมุ่งเน้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป เมื่อเราทราบแล้วว่าครึ่งปีแรกหุ้นมูลค่ากลุ่มวัฎจักรจะกลับมา ก็ต้องมาดูว่า ประเทศไหนที่มีหุ้นวัฎจักรและมีมูลค่าบ้าง ก็จะพบว่า ได้แก่ หุ้นกลุ่มเศรษฐกิจที่แท้จริงในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่หุ้นอินเดีย ก็ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดี เพราะธนาคารผ่อนคลายนโยบายการเงิน รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ ทั้งยังมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน

ส่วนครึ่งปีหลัง ที่เรามองว่าน่าจะเป็นจังหวะที่เข้าซื้อหุ้นเทคฯ ได้ ก็มองว่า มีโอกาสที่หุ้นเทคฯ จะกลับมา ซึ่งการที่หุ้นเทคฯ ปรับลดลงมา ก็ทำให้มูลค่าถูกลง อย่างเช่น หุ้นที่กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) ก็ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีมาก โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ. 2564 เทียบกับสิ้นปี 2563 ผลตอบแทนของ B-INNOTECH อยู่ที่ 14.78% ขณะที่ดัชนีชี้วัดผลตอบแทนอยู่ที่ 8.31%

โดยรวมแล้วหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ ในเวลานี้ไม่ได้แพงเลย ส่วนหุ้นเทคฯ ที่โดนเทขายลงมามากๆ ก็คือหุ้นเทคฯ ที่แพง ซึ่งหุ้นเทคฯ ที่กองทุน B-INNOTECH หรือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE) เลือกลงทุนเป็นหุ้นเทคฯ ที่ราคาน่าสนใจและมีเหตุผล เพราะฉะนั้นการลงทุนในหุ้นเทคฯ ก็ถือว่า ไม่ใช่การลงทุนที่เลวร้ายเลยสำหรับปีนี้

สำหรับนักลงทุนที่ไม่สะดวกในการติดตามตลาด การเลือกลงทุนผ่านกลุ่มกองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ (BMAPS) ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดย BMAPS เป็นกองทุนหน่วยลงทุน (Fund of Funds) ที่มีการจัดสรรในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกให้นักลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และตามความคาดหวังของผลตอบแทนการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงิน มีทั้งหมด 3 กองทุน คือ BMAPS100 ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ 100% BMAPS55 ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 55% และ BMAPS25 ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 25% สำหรับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ

ทีมงานกองทุนบัวหลวงจะมีการทบทวนพอร์ตลงทุน BMAPS เป็นประจำทุกเดือน โดยในทีมงาน BMAPS ประกอบด้วย ผู้จัดการกองทุน BMAPS ที่ประมวลผลการตัดสินใจการลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ข้อมูลจากผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ ข้อมูลวิเคราะห์จากทีมวิจัย และมีคณะอนุกรรมการการจัดสรรทรัพย์สิน (Asset Allocation Sub Committee) ทำหน้าที่ให้มุมมองการลงทุนในแต่ละทรัพย์สิน ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้จัดการกองทุน BMAPS ลงทุนในแต่ละกองทุน ให้เป็นไปตามความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เชื่อได้ว่า ถ้านักลงทุนลงทุนผ่าน BMAPS ก็เหมือนมีผู้ช่วยคอยดูแลพอร์ตการลงทุนให้อย่างสม่ำเสมอ