Fund Comment มีนาคม 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มีนาคม 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน มี.ค. 2564 เคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งเดือน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับลดลง 4-14 bps. เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อน จากความต้องการพันธบัตรระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดความผันผวน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้น 6-45 bps. ซึ่งยังคงเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ เป็นหลัก จากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ภายหลังประธานาธิบดี Joe Biden สามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศยังชะลอการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพื่อรอการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ของ สบน. ในเดือน เม.ย. นี้อีกด้วย ด้านนักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 696 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 8,921 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองครบกำหนดอายุ (Expired) 4,552 ล้านบาท ทำให้มีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิ 5,065 ล้านบาท

ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการประชุมเมื่อวันที่ 16-17 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% และระบุว่าจะคงอยู่ที่ระดับนี้จนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่ Fed ประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ยังคงบ่งชี้ว่า Fed จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย

ด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ Fed ยังคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ระดับเดิมที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน โดยระบุว่าจะเข้าซื้อจนกว่าจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่าการจ้างงานจะกลับเข้าสู่ระดับที่ Fed ประเมินว่าเป็นการจ้างงานเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย

สำหรับประเด็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้น Jerome Powell ประธาน Fed ระบุว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการสกัดกั้นการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยดัชนีชี้วัดหลายๆ ตัวยังบ่งชี้ถึงสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก ซึ่งแสดงว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม

สำหรับประเทศไทย การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูง จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กนง. ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 3.0% (จากประมาณการเดิม 3.2%) และในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 4.7% (จากประมาณการเดิม 4.8%) จากการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ

ด้านกระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 99.11 ลดลง -0.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งหักราคาอาหารสดและพลังงานอยู่ที่ระดับ 100.42 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ธ.ค. 2563 คือระหว่าง 0.7-1.7%

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสผันผวนจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) วงเงินไม่เกิน 135,000 ล้านบาทในช่วงปลายเดือน เม.ย. นี้ และการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 การประชุม FOMC ในวันที่ 27-28 เม.ย. รวมถึงการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ