BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 1)

BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 1)

สรุปความสัมภาษณ์ 

คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CFA® ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
และ
คุณสันติ ธนะนิรันดร์  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO)

เรากำลังจะผ่านพ้นไตรมาสแรกของปี 2021 ซึ่งถือเป็นปีสำคัญที่ทุกคนต่างจับตาและรอคอยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากปี 2020 ทั้งปี เราเจอกับวิกฤติการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19

อุปสรรคเหล่านั้นผ่านพ้นไปหมดหรือยัง หรือทิ้งร่องรอยความท้าทายอะไรไว้บ้าง โอกาสลงทุนหลังจากนี้ อยู่ตรงไหนบ้าง กองทุนบัวหลวง ขอเชิญทุกท่านมาร่วมพูดคุยกับ คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CFA® ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กองทุนบัวหลวง และคุณสันติ ธนะนิรันดร์  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO) กองทุนบัวหลวง

คำถาม  เรากำลังจะ “ผ่านพ้นอุปสรรค เปิดรับ New Normal” จริงๆ แล้ว เราผ่านพ้นอุปสรรคไปหมดหรือยัง อุปสรรคยังทิ้งร่องรอยความท้าทายอะไรไว้บ้าง

คุณพีรพงศ์ – ร่องรอยแรกที่เราจะเห็นตอนนี้ ก็คือ ทุกคนสวมหน้ากาก มีการเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อไปตามสถานที่ต่างๆ ก็ต้องมีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งการวัดอุณหภูมิ เหล่านี้ คือ ร่องรอยที่ตามมา และยังไม่หมดไป

ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่า ภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ บอบช้ำกันมาก หลายอุตสาหกรรมมีการตกงาน และคงจะมีปัญหาการตกงานนี้อีกหลายปี เพราะเรายังไม่ได้เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวได้

นักลงทุนก็ต้องอดใจรอ นักท่องเที่ยวก็ต้องอดใจรอ เพราะเราเริ่มค่อยๆ เปิดประเทศแล้ว มีทางภูเก็ตเป็นพื้นที่เริ่มต้น และหลายจังหวัดก็คงจะตามมา

ทั้งนี้ คำว่า “ผ่านพ้นอุปสรรค” ก็คือ เราเริ่มเข้าใจโควิด-19 กันมากขึ้น เริ่มมีวัคซีนของหลายๆ เจ้าให้เราเลือกใช้ อุปสรรคนี้ค่อยๆ ถูกแก้ไขไป ขณะที่รัฐบาลก็มีการเยียวยาเศรษฐกิจ พร้อมที่จะกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

คำถาม – ภาคการลงทุนมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ต้องระมัดระวัง 

คุณสันติ – อุปสรรคเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอมาโดยตลอด ต้องต่อสู้กับอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขัน หรือวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยสมัยก่อน บริษัทใหญ่ๆ ของเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่แล้ว ก็ต้องเป็นกลุ่มวัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง แต่ในเวลานี้ก็ไม่ใช่แล้ว ก็ต้องปรับตัวกันไป ซึ่งเรื่องของโควิดถือเป็นตัวเร่งเรื่องการ Disruption ในเมืองไทย อย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก ก็ต้องเจออุปสรรคจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีการช้อปปิ้งออนไลน์ หรือธุรกิจอาหาร ก็มีเรื่องการส่งอาหารที่บ้าน โดยรวมแล้ว ลักษณะของพฤติกรรมผู้บริโภคยังเหมือนเดิมอยู่ แต่จะปรับตัวไปในทางที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น

หรือในเรื่องของโรงพยาบาล ธุรกิจการแพทย์ เริ่มมีการพบแพทย์ผ่านทางออนไลน์ ในต่างประเทศมีมากหน่อย ส่วนในไทย ก็เริ่มมีผู้ประกอบการสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ส่วนภาคท่องเที่ยว ก็อาจต้องใช้ระยะยาว รออีกระยะหนึ่งกว่าจะมีการฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ในที่สุดนักท่องเที่ยวก็จะกลับมาอยู่ดี เพราะต้องการประสบการณ์ในการท่องเที่ยว อยากกลับมาเที่ยว นี่คือ ร่องรอยของอุปสรรคที่ยังมีอยู่สำหรับนักลงทุน แต่ในฐานะนักลงทุนก็มักจะมองข้ามไปถึงระยะข้างหน้าแล้ว

คำถาม – มองไปข้างหน้า หมดอุปสรรคแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนไปและเป็นโอกาสการลงทุน คือ อะไร

คุณพีรพงศ์ – อุปสรรคที่เราเผชิญกันมาทั่วโลก และรัฐบาลทั่วโลกถือเป็นวาระของประชาคมโลก คือ ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องมองไปข้างหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดแบบใหม่อย่างที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องเตรียมการด้วย

ในด้านการปรับตัววิถีชีวิต ทำงานจากที่บ้าน สั่งอาหารออนไลน์ ก็ถือเป็นการปรับตัวไป ส่วนเรื่องของการฟื้นฟูที่เป็นวาระเร่งด่วน คือ เรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การใช้ทรัพยากรของโลกมากเกินไปจนทำให้เกิดมลพิษตามมา ซึ่งการฟื้นฟูในรอบนี้ทุกคนก็หันมาในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นฟื้นฟูแบบ Go Green เป็นเทรนด์ใหญ่ ที่เราตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมอันดับแรก ส่วนเรื่องการปรับตัว ปรับวิถีชีวิตเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องปรับใช้

ทั้งนี้ คำว่า Go Green เทรนด์การฟื้นฟูแบบตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่นี้ ทั้งภาคการผลิต การบริการ รวมถึงผู้บริโภคต้องตระหนักในเรื่องนี้ เพราะเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นไม่ได้เลย หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี อากาศเป็นมลพิษ น้ำที่ดื่ม หรืออาหารที่รับประทานมีมลพิษเจือปน ดังนั้น เราต้องใช้แรงงานลดลง ใช้พลังงานลดลง ลดต้นทุน เบียดเบียนการใช้ทรัพยากรของโลกให้น้อยลง

คำถาม – โอกาสการลงทุนของกลุ่มนี้อยู่ตรงไหน 

คุณพีรพงศ์ – เทคโนโลยี หรือความก้าวหน้าของวิทยาการต้องอาศัยผู้ชำนาญการที่อยู่ในต่างประเทศ อย่างเช่น กว่า 10 ปี เรามองเห็นเมกกะเทรนด์ด้านสุขภาพ ก็เลยมองหาพันธมิตรการลงทุนจากต่างประเทศ เลือก Wellington ส่วนในครั้งนี้ เราก็มองเห็นเรื่องเมกกะเทรนด์ Go Green เราก็เฟ้นหาผู้จัดการกองทุน ซึ่งก็คือ Pictet Asset Management ภายใต้ Pictet Group โดย Pictet เป็นบริษัทการเงินชั้นนำ ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 20 ล้านล้านบาท มีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญกว่า 300 คน พนักงานกว่า 4,000 คน สาขากว่า 20 สาขาทั่วโลก และ Pictet ยังเป็นผู้บุกเบิกเรื่อง Theme Investment ซึ่งกองทุนที่เราเลือกไปลงทุน ก็เป็นกองที่ได้เรตติ้งจาก MorningStar 4-5 ดาว

คำถาม – ทำไมถึงเลือกกองทุนของ Pictet และสาเหตุที่เราจัดตั้งกองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP) จะทำให้เราเข้าถึงโอกาส Go Green ที่มีประสิทธิภาพระยะยาวอย่างไร

คุณสันติ – กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP) เราไปเลือกลงทุนผ่าน Pictet ทั้งหมด 2 กองทุน คือ Pictet Global Environmental Opportunity ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่ส่งเสริมการลดมลภาวะที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน ธุรกิจที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ไปเบียดเบียนโลก ส่วนอีกกองทุน คือ Pictet Clean Energy โดยการจัดสรรเงินลงทุน ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้จัดการกองทุน ว่า จะให้น้ำหนักการลงทุนแต่ละกองอย่างไร

สำหรับ Pictet Global Environmental Opportunity จะลงทุนหลักๆ ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก อย่างเช่น ถ้าดูจากแผนของประเทศจีน ในเวลานี้ใช้พลังงานหมุนเวียน 18% แต่ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า จะปรับขึ้นไปเป็น 80% นี่คือ เรื่องราวการเติบโตของจีน ซึ่งจะเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มากที่สุดในโลก ในอีก 7-8 ปีข้างหน้า ดังนั้น นี่คือ การเติบโตที่เราเห็น คือ การเปลี่ยนจากใช้พลังงานฟอสซิล เป็นพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ก็เป็นหนึ่งในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือในเรื่องของการออกผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันจะต้องมีการทำแบบจำลอง เราก็มีการไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจนั้น อีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ sustainable Agriculture หรือ plant-based meat ที่เรารู้จักกัน นอกจากเป็นเรื่องสุขภาพที่ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ยังเป็นการประหยัดทรัพยากร ทั้งที่ดิน และน้ำด้วย

คุณพีรพงศ์ – กองทุนที่เราไปลงทุนจะมีการคัดเลือกหุ้นจากกว่า 40,000 บริษัท เหลือกว่า 4,000 บริษัท ที่ดูแล้วไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จากนั้นก็จะมาวิเคราะห์ พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญที่รู้ลึกรู้จริงในธุรกิจนั้นๆ มาช่วยดู แล้วพิจารณาจนเหลือกว่า 200 บริษัท แล้วก็มีการคัดเลือกต่อไป จนเหลือหุ้นที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด มี High Conviction เพื่อลงทุน 50-80 บริษัท

รายชื่อบริษัทที่ออกมา อาจไม่ใช่รายชื่อบริษัทที่ในบ้านเรารู้จักกัน แต่เป็นบริษัทในภาคอุตสาหกรรมซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการจะรู้จักดี ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดน้ำเสีย เครื่องมือตรวจวัด เครื่องกรองอากาศ กรองไอเศีย แม้กระทั่งด้าน Plant Base ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ไปลงทุน ซึ่งเราอาจจะไม่คุ้นเคยเพราะเป็นบริษัทต้นน้ำ รวมถึงด้านซอฟต์แวร์ หากเปิดพอร์ตมาแล้วไม่รู้จักบริษัทต่างๆ เลย ก็ไม่ต้องกังวล เพราะผู้เชี่ยวชาญไปคัดเลือกให้อย่างดีเรียบร้อยแล้ว เราก็ลงทุนไปตามเมกะเทรนด์นี้เพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว