BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 2)

BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 2)

สรุปความสัมภาษณ์

คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CFA® ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
และ
คุณสันติ ธนะนิรันดร์  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO)

ในตอนแรก เรามีการกล่าวถึงอุปสรรคที่ผ่านพ้น รวมถึงโอกาสการลงทุนที่รออยู่ไปบ้างแล้ว ซึ่งในตอนที่ 2 นี้ จะมีการเจาะลึกกันต่อถึงการลงทุนในกองทุน B-SIP ว่าควรลงทุนอย่างไร รวมถึงโอกาสการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คำถาม – คำแนะนำการลงทุนใน B-SIP 

คุณสันติ – นักลงทุนควรลงทุนระยะยาว โดยกองทุนนี้ถือเป็น Thematic ที่มีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนได้ ตามภาวะตลาดหุ้น ซึ่งหุ้นที่อยู่ในกองทุนนี้เป็นหุ้นเติบโต ไม่ใช่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแบบแท้ๆ แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจ เช่น กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ที่ตอนนี้ ต้นทุนของการใช้ลดลงมา 70-80% และจะลดลงได้อีก 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งยังมีแนวโน้มการจัดทำแบตเตอรี่จัดเก็บไฟฟ้า ที่จะทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียน มีความสามารถที่จะทำราคาลงได้ถูกกว่าพลังงานฟอสซิล นอกจากนี้ยังมี Simulator ที่ต้องมีชิปที่ดี มี micro simulator ที่ดี หรือ plant-based meat ที่จะต้องมีการพัฒนาให้รสชาติใกล้เคียงกับธรรมชาติ ใกล้เคียงกับอาหารที่มีรสชาติดี

คุณพีรพงศ์ – เรามีผู้จัดการกองทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ มีนักวิเคราะห์ในกว่า 20 สาขาทั่วโลก ที่มาช่วยกันทำวิจัย ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จากภายนอกมาคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นผู้รู้ลึกรู้จริง ในการดูธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ อยากให้นักลงทุนตระหนักเสมอว่า การที่หุ้นปรับขึ้นและลงเป็นเรื่องปกติ ความผันผวนก็เป็นเรื่องปกติ ยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมากก็ยิ่งมีความผันผวนได้มาก ขอเพียงให้นักลงทุนมองเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าหากหุ้นขึ้นทุกวัน เราก็คงไม่ชอบ คือไปซื้อของแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่สมมติถ้าหุ้นมีการปรับตัวปรับฐาน เป็นโอกาสในการเข้าซื้อของถูก

คำถาม – มีคำแนะนำอย่างไรในตลาดหุ้นที่กำลังฝุ่นตลบอยู่ตอนนี้

คุณพีรพงศ์ – เป็นเรื่องธรรมดา ปีที่แล้ว หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมา มูลค่าหุ้นก็ไปไกล ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น มีมาตรการฟื้นฟูออกมา ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ปรับตัวไม่ทันเรื่องการสต๊อกสินค้า ทำให้หุ้นวัฏจักร เกี่ยวกับปิโตรเคมี พลังงานฟอสซิล อย่างราคาน้ำมัน ปรับขึ้นรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนแห่กลับมาซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี  หุ้นวัฏจักร รวมถึงหุ้นคุณค่า (Value Stock) ด้วย เพราะมองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวทั้งหมด เป็น sector rotation ขายหุ้นเทคโนโลยี เข้ามายังหุ้นวัฏจักร

คำถาม – อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นมา และการเทขายหุ้นเทคโนโลยีรอบนี้จะจบเมื่อไหร่

คุณสันติ – อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับขึ้นมาจนถึงระดับนี้ ก็มาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เคยลงไปในระดับที่ต่ำมากๆ ถึง 0.6% ดังนั้น ในมุมมองของเหตุการณ์นี้จึงถือเป็น normalization ที่ผลตอบแทนต้องปรับขึ้นมา

ในช่วงที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นมา หลาย sector ก็ได้ประโยชน์ เช่น ธนาคาร ที่ได้ผลตอบแทนดีขึ้น จากการปล่อยกู้ หรือกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ก็ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมา ขณะที่ sector ที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นกลุ่มหุ้นเติบโต ที่มูลค่าปรับลดลงจากการถูกขายเพื่อทำกำไร ซึ่งก็เป็นไปได้ที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับขึ้นไปอีกเล็กน้อย แต่เมื่อมองระยะยาว เรื่อง technology disruption หรือเรื่อง ESG ยังเป็นเรื่องที่เติบโตไปได้อีกไกล ดังนั้น จึงถือเป็นหุ้นเติบโตที่น่าลงทุนอยู่ดี ในช่วงนี้ที่หุ้นปรับตัวลงมา ก็ถือว่า เป็นความน่าสนใจที่จะเข้าซื้อ

คุณพีรพงศ์ – ย้อนกลับไปในยุค 1960 หรือกว่า 50 ปี ช่วงนั้น concept stock กำลังมา เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เป็นยุคที่บริษัทที่ขยายกิจการใช้แนวทางการควบรวมกิจการ ทำให้มูลค่าธุรกิจสูงขึ้น คนก็ไปให้ความสนใจแล้วลืมหุ้นคุณค่า แต่ถึงจุดหนึ่งก็เริ่มมีการขายทำกำไร ราคาหุ้น concept stock ก็ลงมา คนที่ลงทุนไว้ก็เจ็บตัว กลับมาสู่การพิจารณาลงทุนหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยรวมแล้วเป็นการเจ็บตัวจากบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่วิ่งแรงเกินตัวไป

สำหรับในครั้งนี้ หุ้นเทคโนโลยีที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่โดนผลกระทบน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า จะเห็นว่า คนมีการโยกเงินที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีกลับออกไป แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ปรับฐานไประยะหนึ่งแล้ว ผลการดำเนินงานตามทัน ระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) น่าสนใจ นักลงทุนก็จะกลับเข้ามา

ทั้งนี้ ในสมัยนี้ นักลงทุนต้องการเห็นผลตอบแทนเร็วๆ แต่การลงทุน ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งแบบข้ามคืนข้ามวันได้ ต้องอาศัยความอดทนและรอคอย