3 ทางเลือกในการลงทุนกับ B-FUTURE

3 ทางเลือกในการลงทุนกับ B-FUTURE

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPT™

เมื่อกล่าวถึง Theme การลงทุนในอนาคต เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่  น่าจะมองหาโอกาสจากการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี  โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)   นับว่ามีความน่าสนใจมาก  เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน สังเกตได้จากความสะดวกสบายและความทันสมัยรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าอัจฉริยะไร้คนขับ การวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยและโรคร้ายแรง  โดยเฉพาะการให้บริการในรูปแบบฟินเทค  (Financial Technology) ของสถาบันการเงินที่ AI ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในฐานะผู้ช่วยส่วนตัวทางด้านการเงิน  เช่น การให้ข้อมูลผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ (Chatbot)  การส่งผลการวิเคราะห์ทางด้านการเงินโดยอาศัยข้อมูลการทำธุรกรรม  เพื่อช่วยตัดสินใจในการลงทุน เป็นต้น

นอกเหนือจากโอกาสที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นกลุ่ม AI แล้ว ยังมีโอกาสในการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน  นั่นคือการลงทุนในหุ้นของธุรกิจที่คาดว่าน่าจะมีการเติบโตจากแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ด้วยเหตุนี้  กองทุนบัวหลวง  จึงจัดตั้งกองทุนหุ้นต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่ม AI  และหุ้นที่มีการเติบโตจากแนวโน้มการบริโภคในอนาคตขึ้นมา  2  กองทุน  ได้แก่

1. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE)   เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ  ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลักที่ชื่อว่า Allianz Global Investors – Artificial Intelligence  และกองทุน Fidelity Funds – China Consumer Fund  รวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมในหน่วยลงทุนของกองทุน Wellington Fintech Fund ด้วย

2. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นฟิวเจอร์เพื่อการออม (B-FUTURESSF)  เป็น Feeder Fund ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน B-FUTURE โดยจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม  (Super Saving Fund : SSF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมลดหย่อนภาษี

และล่าสุด  กองทุนบัวหลวงก็ได้พิจารณาจัดตั้งขึ้นใหม่อีก 1 กองทุน ได้แก่  กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นฟิวเจอร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-FUTURERMF) เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุนแบบ Cross Investing Fund  คือผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนต่างๆ  ที่เห็นว่าเป็นเทรนด์ในอนาคตและมีการเติบโต โดยประมาณ 80%  เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่ม AI และ Fintech   ส่วนอีก 20% ลงทุนผ่านหุ้นต่างประเทศโดยตรง กองทุนนี้จดทะเบียนเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

จุดเหมือนของ  3 กองทุนนี้  คือ “นโยบายหลักในการลงทุน”  ที่เน้นลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ  2 กองทุนหลักเหมือนกัน โดยเป็นการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นว่า โลกของเราจะขับเคลื่อนต่อไปด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ฟินเทค (Fintech)  และจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในอนาคตจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีน

นอกจากนี้  กองทุน B-FUTURE  ซึ่งเป็นกองทุนเปิดทั่วไป  และกองทุน B-FUTURESSF  ซึ่งเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีประเภท Super Saving Fund : SSF  จะมีความเหมือนกันอีกอย่างตรงที่  มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

ส่วนกองทุน B-FUTURERMF จะไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุนประเภท Retirement Mutual Fund : RMF   ที่ทุกกองทุนจะไม่สามารถกำหนดให้มีนโยบายจ่ายเงินปันผลได้

จุดต่างของ  3  กองทุนนี้   คือ กองทุนแรก B-FUTURE  เป็นกองทุนเปิดทั่วไปที่สามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ   กำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) สำหรับบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี  ในส่วนเงินปันผล (Dividend) จะต้องเสียภาษี  โดยจะนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีตามฐาน  หรือว่าจะเลือกหัก ณ ที่จ่าย 10% เป็น Final Tax ก็ได้

ส่วนอีก 2 กองทุนที่เหลือคือ B-FUTURESSF  และ  B-FUTURERMF เป็นกองทุนที่จดทะเบียนเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ซึ่งจำกัดสิทธิสูงสุดในการลงทุนและต้องถือครองหน่วยลงทุนตามเงื่อนไขเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ดังนั้น  ข้อแนะนำในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมกลุ่ม  B-FUTURE  นั้น    นักลงทุนจะต้องเข้าใจเป้าหมายในการลงทุนของตัวเราเองก่อนว่า     ถ้าหากเป้าหมายในการลงทุนคือ  เน้นสร้างผลตอบแทน   ไม่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี   และต้องการมีอิสระในการซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ  ขอแนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุนรวม  B-FUTURE  ซึ่งเป็นกองทุนเปิดทั่วไป

แต่ถ้าหากเป้าหมายในการลงทุนคือ เน้นสร้างผลตอบแทน  และต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี   ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุน  B-FUTURESSF  หรือ  B-FUTURERMF ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาเงื่อนไขการลงทุนของกองทุนลดหย่อนภาษีว่ากองทุนประเภทไหน?  ตอบโจทย์เรามากกว่ากันระหว่าง  SSF  และ  RMF

กองทุน B-FUTURESSF  มีนโยบายจ่ายเงินปันผลเหมือนกับกองทุน B-FUTURE  แต่ต้องซื้อขายและถือครองหน่วยลงทุนตามเงื่อนไขของกองทุนประเภท SSF   เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี   โดยจะต้องถือครองหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีนับแบบวันชนวัน

ส่วนกองทุน B-FUTURERMF  เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว  โดยมีเป้าหมายเพื่อการเกษียณ   เมื่อลงทุนแล้วจะต้องถือครองหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย  5  ปีแบบวันชนวันโดยนับจากเงินลงทุนก้อนแรก และ มีการลงทุนในกองทุนประเภท RMF อย่างน้อย  5  ปีลงทุน และ ขายคืนเมื่อผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์  (โปรดศึกษาข้อมูลจากคู่มือภาษี)