Fund Comment เมษายน 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment เมษายน 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน เม.ย. 2564 ปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุไม่เกิน 5 ปี เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 5 ปี ปรับตัวลดลง 4-19 bps.

ปัจจัยหลักยังคงเคลื่อนไหวตามแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ที่มีการปรับตัวลดลงเป็นเดือนแรกในปีนี้ หลังจากที่ความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อ (5 years forward breakeven inflation) มีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับ 2.00-2.15% สะท้อนว่านักลงทุนเริ่มผ่อนคลายความกังวลด้านการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และเห็นว่าอัตราผลตอบแทนที่ระดับปัจจุบันสามารถยอมรับได้ จึงกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะในระยะยาวปรับตัวลดลงในระดับจำกัดและมีปริมาณการซื้อขายที่เบาบางระหว่างเดือน เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) มูลค่ารวมไม่เกิน 140,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้พันธบัตรระยะยาวมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีผลต่อราคาพันธบัตร โดยการทำธุรกรรม Bond Switching เสร็จสิ้นในวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีการตอบรับจากนักลงทุนในระดับที่ดี ทำให้เกิดแรงซื้อกลับเข้าพันธบัตรระยะยาวอีกครั้ง

ด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 27-28 เม.ย. ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% และเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจยังคงมีความผันผวนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเต็มประสิทธิภาพและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในระดับอย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเช่นเดิม แบ่งเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำต่อไป

ทั้งนี้ ถึงแม้นายพาวเวลล์ ประธาน Fed แถลงว่า ยังไม่มีแผนการลดปริมาณการซื้อพันธบัตร แต่ตลาดเริ่มมีมุมมองภายหลังจากการประชุม ว่าการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (non-farm payroll) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นเกินกว่าเป้าหมายภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ Fed สามารถเริ่มส่งสัญญาณการลดปริมาณการซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกจากจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวเร็วถึง 8.5% yoy ในเดือน มี.ค. ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน เม.ย. อยู่ที่ 100.48 เพิ่มขึ้นถึง 3.41% yoy จากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อนหน้า และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศยังมีความล่าช้า ส่งผลให้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงมาจากประมาณการเดิมในเดือน ม.ค. ที่ 2.7% มาอยู่ที่ 2.6% สวนทางกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโต 6%

ในขณะเดียวกัน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย กนง. ชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกระจายวัคซีนเป็นหลัก ซึ่งหากมีการดำเนินการฉีดวัคซีนได้ต่ำกว่า 65 ล้านโดสในปีนี้ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติอยู่ในระดับต่ำที่ 8 แสนคน และเศรษฐกิจไทยจะมีการเจริญเติบโตต่ำเพียง 1% จึงเห็นว่าโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการทบทวนประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน มิ.ย. นี้ โดยระดับประมาณการในปัจจุบันอยู่ที่ 3%

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 2564 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสผันผวนจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มผันแปรตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่มีปัจจัยภายในประเทศที่ต้องพิจารณาควบคู่กัน ได้แก่ ความรุนแรงของการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ดุลการคลัง และความจำเป็นของภาครัฐในการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังและเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ