วิธีลงทุนของ FIF เดี๋ยวนี้แตกต่างจากยุคเริ่มแรกอย่างไร

วิธีลงทุนของ FIF เดี๋ยวนี้แตกต่างจากยุคเริ่มแรกอย่างไร

สรุปความ เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

แต่เดิมกองทุนที่ไปลงทุนยังต่างประเทศ หรือ FIF  นั้นไม่สามารถจัดตั้งได้อย่างอิสระเหมือนปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงหนึ่งมีการควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออกของประเทศ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นผู้ทำหน้าที่กำหนดว่า ในช่วงเวลานั้นจะเปิดวงเงินให้สามารถนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ในระดับใด

ต่อมาเมื่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศดีขึ้น ประกอบกับโอกาสการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้น จึงมีการอนุญาตให้นำเงินจากประเทศไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และเป็นอิสระอย่างเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในช่วงแรกที่มีการจัดตั้งกองทุน FIF จะมีรูปแบบหลักๆ คือ บริษัทจัดการจะเลือกกองทุนต่างประเทศที่น่าสนใจ จากนั้นก็จัดตั้งกองทุนรวมในไทยเพื่อไปลงทุนในกองทุนนั้น หรือเรียกว่า Feeder fund ตามประเทศหรือภูมิภาคที่ได้เลือกไว้

ต่อมารูปแบบของ Theme การลงทุนเริ่มน่าสนใจมากขึ้น กล่าวคือ กองทุนจะไม่เน้นว่าจะลงทุนในประเทศ หรือภูมิภาคใด แต่เลือกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม หรือแนวคิดอื่นๆ เช่น เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งกองทุนบัวหลวงก็มีการจัดตั้ง  กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) เป็นกองทุนตาม Theme กองแรกของกองทุนบัวหลวง และปัจจุบันเราจะเห็นกองทุนที่มีลักษณะของ Theme การลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ นอกเหนือจากกองทุน FIF ที่เป็นรูปแบบ Feeder fund แล้ว การจัดตั้งกองทุน FIF ที่เป็นลักษณะ Fund of funds คือ ไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศหลายๆ กอง โดยอาจจะกำหนดกรอบนโยบายไว้ว่ากองทุนต่างๆ ในต่างประเทศ ที่กองทุนไทยเลือกลงทุนนั้น อาจจะมีนโยบายการลงทุนร่วมในลักษณะเดียวกัน เช่น มี Theme การลงทุนเดียวกัน หรือเป็นแนวคิดอื่นๆ ตามแต่ที่ผู้จัดการกองทุนจะออกแบบไว้ อาจเป็นแนวคิดกองทุนที่ไปลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว หรือตลาดเกิดใหม่ หลายๆ กองทุน โดยผู้จัดการจะกำหนดสัดส่วนที่ลงทุนว่าในช่วงนั้นๆ ควรลงทุนกองไหนในสัดส่วนเท่าไร เป็นต้น ตัวอย่างกองทุนประเภทนี้ของกองทุนบัวหลวง ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นยั่งยืน หรือ B-SIP ที่เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มยั่งยืนต่างๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล

นอกจากการลงทุนผ่านกองทุนแล้ว เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ผู้จัดการกองทุนไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น รวมถึงต้นทุนการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นหรือตราสารโดยตรงต่ำลง ก็เริ่มมีกองทุน FIF ที่ให้ผู้จัดการกองทุนลงทุนหุ้นหรือตราสารในต่างประเทศได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกองทุนต่างประเทศ อย่างของกองทุนบัวหลวงก็มี กองทุนเปิดบัวหลวงอาเซียน (B-ASEAN) ที่ไปลงทุนในหุ้นภูมิภาคอาเซียนโดยตรง

ปัจจุบัน กองทุนรวม FIF ก็มีพัฒนาการไปไกลขึ้น คือ ให้ความสำคัญกับการมองแนวโน้มในอนาคตของสิ่งที่จะลงทุนมากกว่าให้ความสำคัญกับรูปแบบว่าจะต้องลงทุนผ่านกองทุนอื่น หรือซื้อหุ้นเป็นรายตัว  เราจึงเห็นกองทุนในช่วงหลังๆ ที่ออกแบบมาให้หลากหลายขึ้น สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรงก็ได้ ลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศก็ได้ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับกรอบนโยบาย มองแนวโน้มอนาคตว่า theme หรือแนวคิดธุรกิจแบบไหนกำลังจะมา แล้วผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาเองว่าจะไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส

โดยรวมแล้ว ทุกวันนี้การลงทุนเปิดกว้างมาก มีพัฒนาที่รวดเร็วในธุรกิจกองทุนรวม ผู้จัดการกองทุนรวมสามารถทำอะไรได้มากขึ้นเพราะเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้การซื้อขายทรัพย์สินในต่างประเทศทำได้ง่าย ผู้จัดการกองทุนที่มีข้อมูลมากขึ้น ก็สามารถเลือกหรือออกแบบกองทุนได้หลากหลาย เพราะข้อจำกัดเรื่องระบบ หรือวิธีการลดลง

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE) เป็นกองทุนที่ออกแบบมาเพื่อเน้นลงทุนสอดคล้องกับแนวโน้มการใช้ชีวิตและการบริโภคของคนยุคใหม่ ปัจจุบันกองทุนโฟกัสการลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) การบริโภคของคนจีน และเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) รวมถึงผู้จัดการกองทุนยังสามารถเลือกลงทุนหุ้นรายตัวที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มของโลกอนาคตเพิ่มเติมได้ด้วยไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวมเท่านั้น

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการจัดตั้งกองทุนรวมในรูปแบบใหม่ คือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) ซึ่งกองทุนนี้ไม่ได้เป็น Feeder fund ไม่ใช่กองทุน Fund of funds และกองทุนนี้ไม่ได้ระบุว่าจะซื้อหุ้นต่างประเทศอย่างเดียว หรือซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศอย่างเดียวเท่านั้น

เนื่องจากตลาดหุ้นจีนเองก็เป็นตลาดการลงทุนที่มีทั้งความกว้างและความลึก มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดจีน A-shares คือตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ตลาดจีน H-Shares คือ หุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกง และยังมีหุ้นจีนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วย กองทุน B-CHINE-EQ จึงไม่ได้ไปกำหนดกรอบว่าจะลงทุนกองทุนรวมใด หรือลงทุนเฉพาะตลาดหุ้นใด แต่สามารถหาประโยชน์จากการลงทุนในหุ้นที่ทำธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับประเทศจีนได้อย่างอิสระมากกว่ากองทุนเดิมๆ

ขณะเดียวกันกองทุนนี้ ไม่ได้มีเพียงผู้จัดการกองทุนของกองทุนบัวหลวงคัดเลือกลงทุนในหุ้นจีนหรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศเอง แต่มีการออกแบบให้มีพันธมิตรในต่างประเทศร่วมด้วย โดยใช้โมเดลที่เรียกว่า Outsource fund manager ได้แก่ Allianz Global Investors Asia Pacific Limited ซึ่งเชี่ยวชาญการลงทุนในหุ้นจีนมากๆ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ Outsource fund manager จะพิจารณาว่าจะเลือกลงทุนผ่านกองทุนใดหรือหุ้นใด ขณะที่ผู้จัดการกองทุนไทยก็มีอิสระ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นต่างประเทศรายตัวเข้าไปได้ ทำให้ B-CHINE-EQ ความยืดหยุ่นดังกล่าว ส่งผลให้ B-CHINE-EQ มีผลการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงที่ดีในการจัดการกองทุน เป็นที่ประทับใจของนักลงทุน และสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ