BF Monthly Economic Review – พ.ค. 2564

BF Monthly Economic Review – พ.ค. 2564

BF Economic Research

สรุปความ

ec001.jpg
ในช่วงปี 1920-1929 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ณ ตอนนั้นเกิดโรคระบาดไข้หวัดสเปน ภาพในเวลานั้นมีผู้ติดเชื้อมากกว่าเวลานี้ เพราะวิวัฒนาการการแพทย์ยังไม่เท่าปัจจุบัน แต่เมื่อสามารถควบคุมโรคได้ เศรษฐกิจในช่วงนั้นฟื้นตัวขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดหลาย 10 เท่า จากช่วงที่เกิดภาวะโรคระบาด

เกิดภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการบริโภคที่บูมมาก มีสินค้าเกิดขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ค่าจ้างแรงงานไต่ระดับสูงขึ้นมาก และผู้คนสามารถเข้าหาสินเชื่อ และเข้าไปซื้อขายหุ้นได้ด้วย

ec002.jpg

สิ่งที่เราเผชิญตอนนี้คือ COVID-19 ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็สอดคล้องไปด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้มากน้อยขนาดไหน

ทั้งนี้ ภาพผู้ติดเชื้อรายวันฝั่งประเทศพัฒนาแล้วเริ่มชะลอตัวลง แต่ในฝั่งเอเชีย ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย ไต้หวัน เริ่มพบความท้าทายในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้ง จึงเห็นความแตกต่างกันในเชิงความสามารถในการควบคุมโรค

ec003.jpg

เมื่อมาพิจารณาประสิทธิภาพการแจกจ่ายวัคซีนของแต่ละประเทศ พบว่า จีนฉีดได้ 20 ล้านโดสต่อวัน เร็วกว่าสหรัฐฯ และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของจีนอยู่ในหลักหน่วยแล้ว

ส่วนกลุ่มที่การแจกจ่ายวัคซีนอาจจะล่าช้า เช่น ไต้หวัน ที่รัฐบาลประสบปัญหาการจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศทำได้ยากมาก รวมถึงไทย และมาเลเซีย ซึ่งเมื่อดูตัวเลขของมาเลเซีย จะพบว่า การฉีดวัคซีนอยู่ในทิศทางใกล้เคียงกับไทย

หากฉีดวัคซีนได้ช้าเท่าไหร่ การระบาดของโรค และการกลายพันธุ์ของโรคอาจเป็นไปในทิศทางที่รุนแรงขึ้นได้

ec004.jpg

ทั้งนี้ เราจะเห็นบางประเทศ เช่น เยอรมนี และสหรัฐฯ เตรียมเปิดประเทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับขึ้นมา ส่วนญี่ปุ่น อินเดีย และไทย กำลังพยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

จากสไลด์ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้านี้ สะท้อนว่า เมื่อเกิดโรคระบาดแล้วควบคุมได้ เศรษฐกิจกลับมา ผู้ที่กระจายวัคซีนได้ก่อน ก็จะสามารถเดินหน้าไปได้ก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่

ec005.jpg

ภาพเหล่านี้สะท้อนมายัง GDP ไตรมาสแรก โดยพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวก้าวกระโดด ซึ่งมาจากการบริโภคเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจเปิด คนก็มีความต้องการใช้จ่าย สหรัฐฯ เลยสะท้อนภาพการบริโภคที่ทะยานสูงขึ้นมาก ส่งผลถึง GDP ขณะที่ภาพของจีนก็มีทิศทางใกล้เคียงกัน ส่วนประเทศอื่นๆ การบริโภคยังหดตัวอยู่ แต่ถือว่าดีกว่าในช่วงก่อนหน้านี้

ec006.jpg

เมื่อมาดูตัวเลข Composite PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งเป็นตัวเลขรายเดือน จะเห็นการแยกออกจากกันของประเทศที่ควบคุม COVID-19 ได้ และประเทศที่ยังควบคุม COVID-19 ได้ไม่ดีอย่างชัดเจน

โดย PMI ในระดับ 50 สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับสหรัฐฯ พบว่า ตัวเลขนี้ปรับเพิ่มขึ้นไปไกลกว่าระดับ 50 มาก ไปอยู่ที่ 68.1 มาจากทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มการผลิตและการบริการ

ส่วนจีนก็วิ่งไปในทิศทางเหนือ 50 เช่นกัน แต่อาจจะต่ำกว่าสหรัฐฯ เพราะจีนขยายตัวมาก่อนสหรัฐฯ แล้ว แต่สหรัฐฯ เพิ่งกระโดดขึ้นมาในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ญี่ปุ่นและบราซิล ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อยู่

ในส่วนของญี่ปุ่น โครงสร้างประชากรเป็นผู้สูงวัย การกระจายตัวของวัคซีนอาจจะจำกัด เพราะคนญี่ปุ่นจะมีความระมัดระวังในการใช้ยาหรือวัคซีน จะต้องคิดก่อนว่าฉีดไปแล้วให้ผลดีหรือไม่ดี ภาพเศรษฐกิจจึงเป็นไปในทิศทางขยายตัวช้า ตัวเลขอยู่ที่ 48.1 ส่วนบราซิล ต่ำกว่าญี่ปุ่น อยู่ที่ 44.5 โดยบราซิลเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หลักของโลก เมื่อเผชิญ COVID-19 กระทบแรงๆ และยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ จึงเผชิญกับการชะงักงันของการส่งออกสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ด้วย

ec007.jpg

เมื่อดูภาพการส่งออก พบว่า ตัวเลขการส่งออกของสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ทะยานขึ้นมา โดยได้รับอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมี Pent-up Demand หรือความต้องการของผู้บริโภคในการกลับมาใช้จ่ายในระดับที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วหลังจากหยุดจับจ่ายใช้สอยไปในช่วงก่อนหน้า โดยสินค้าที่ทั้งไต้หวัน และเกาหลีใต้ส่งออกไป หนีไม่พ้น กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการส่งออกของอินเดียก็ดีดขึ้นไป เพราะเป็นผู้ผลิตยาหลักของโลก

โดยรวมแล้ว เมื่อความต้องการสินค้ากลับมา ประเทศผู้ส่งออกจึงได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาพของการส่งออกขยายตัวดีขึ้นทั้งโลก

ec008.jpg

หากจำกันได้ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เคยมีประเด็นเรื่องเรือสินค้าขวางคลองสุเอซทำให้เรือลำอื่นๆ ไม่สามารถผ่านไปได้ นักลงทุนอาจมองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว แต่จริงๆ แล้วยังไม่จบ แม้ผู้ส่งออกจะได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้น แต่ก็ยังเผชิญความท้าทายเรื่องค่าระวางเรือที่แพงขึ้นมาก

ตู้คอนเทนเนอร์ 40 ฟุต ที่จะวิ่งจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ของจีนไปลงที่่ท่าเรือขนส่งรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 5 เท่า อยู่ที่หลักแสนบาทต่อตู้ ยังไม่นับรวมประเด็นสินค้าคงคลังที่ต้องวางไว้ในโกดัง โดยรวมต้นทุนเกี่ยวกับการส่งออกไต่ระดับขึ้นทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้องไปรอที่ท่าเรือต่างๆ อยู่หลักล้าน TEUs หรือตู้สินค้าขนาด 20 ฟุตหลักล้านตู้ แปลว่า ท่าเรือในเวลานี้แน่นขนัดมาก ต้องใช้เวลาในการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ค่าขนส่งไต่ระดับมากขึ้น

ec009.jpg

เมื่อมาดูราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พบว่า สินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ ทั้งโลหะ และสินค้าเกษตรไต่ระดับสูงขึ้นกันไปหมดเลย เช่น ทองแดง เงิน ทองคำ ข้าวโพด ถั่วเหลือง กาแฟ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ เมื่อมีความต้องการ ราคาจึงขยับขึ้นตาม เมื่อผู้ผลิตบางเจ้ายังผลิตให้ไม่ได้ จึงเกิดภาวะอุปทานขาดแคลน หรือที่เรียกว่า supply shortage

ec010.jpg

ด้วยเหตุนี้ จึงไปส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อด้วย โดยเงินเฟ้อปรับขึ้นไปค่อนข้างสูง เพราะว่าสินค้าโภคภัณฑ์เป็นส่วนผสมที่อยู่ในตะกร้าราคาซึ่งเอาไว้คำนวณเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีสินค้าโภคภัณฑ์มีน้ำหนักอยู่มาก เงินเฟ้อก็จะวิ่งขึ้นไปค่อนข้างมาก

ec011.jpg

โดยทั่วไปแล้ว ในฐานะนักลงทุนเราสนใจเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อเป็นส่วนผสมหนึ่งที่ไว้คำนวณอัตราผลตอบแทนการลงทุน โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนการลงทุนในพันธบัตรว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปมาก แต่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ได้วิ่งขึ้นไปมากด้วย ก็จะไปกดดันอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่จะได้รับเมื่อหักผลกระทบจากเงินเฟ้อไปแล้ว

ณ ตอนนี้ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง มาอยู่ที่กว่า -1 และยังอยู่ในระดับนี้ไม่ไปไหนเลย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนที่ชอบลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ อาจจะต้องให้ความสนใจว่าการลงทุนในตราสารหนี้อาจเผชิญผลกระทบทางลบจากเงินเฟ้อได้

ec012.jpg

บทสรุป

เศรษฐกิจในเวลานี้ได้รับแรงสนับสนุนจากสภาพคล่อง ทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่กระตุ้นเข้ามา ทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว มีสิ่งที่เรียกว่าอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไปทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาโภคภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เมื่อเกิดเงินเฟ้อแล้ว ก็ต้องมามองต่อว่าจะลงทุนอย่างไร เพราะอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงอาจได้รับผลกระทบ

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นอาจต้องนำประเด็นเงินเฟ้อมาพิจารณาว่า กลุ่มธุรกิจไหนจะได้รับผลกระทบด้านบวกหรือด้านลบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น โดยก็จะมีบางกลุ่มที่ได้อานิงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น ค่าระวางเรือที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถส่งผ่านราคาไปยังลูกค้าได้เลย แต่ก็มีบางกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถส่งผ่านราคาไปยังลูกค้าได้ เช่น ภาคการผลิตที่ต้องอาศัยวัตถุดิบขั้นต้น ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ดังนั้นส่วนต่างกำไรที่ผู้ผลิตได้อาจจะลดลง นักลงทุนที่ลงทุนจึงต้องนำประเด็นเงินเฟ้อมาตัดสินใจ

นอกจากนี้ ประเด็นเงินเฟ้ออาจจะต้องอยู่กับเราจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี เพราะว่าปีที่แล้ว เงินเฟ้อมีฐานต่ำ นักลงทุนที่สนใจการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อาจต้องจับตาประเด็นเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะยังคงอยู่