Solar Rooftop – อีกหนึ่งทางเลือกแห่งการอนุรักษ์พลังงาน

Solar Rooftop – อีกหนึ่งทางเลือกแห่งการอนุรักษ์พลังงาน

By…ณัฐพล ปรีชาวุฒิ

Fund Management

ทุกวันนี้ หากเราสังเกตบนหลังคาของโรงงานอุตสาหกรรม คลังเก็บสินค้า ห้างสรรพสินค้า หรือบ้านเรือนในหมู่บ้านต่างๆ เราจะพบว่ามีหลายแห่งเริ่มที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) บ้างแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์ที่พัฒนาไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้ราคาของแผงโซลาร์เซลล์ลดลงและจุดคุ้มทุนของการติดตั้งนั้นสั้นลงมากเมื่อเทียบกับแต่ก่อน สิ่งนี้เองทำให้ผู้ประกอบการหลายๆรายเริ่มตัดสินใจหันมาพิจารณาและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น เพราะพวกเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว

ด้วยความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ทำให้เกิดแนวความคิดและโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยตระหนักถึงการลดการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม อันได้แก่พลังงานถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและปัญหาภาวะโลกร้อน หันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อปที่สามารถติดตั้งได้ง่ายและไม่ต้องอาศัยพื้นที่ในการติดตั้งเพิ่มเติมมากนัก เพียงแค่ใช้หลังคาของอาคารเดิมที่มีอยู่แล้วเท่านั้น

หากพิจารณาถึงผู้ประกอบการในไทยที่ตื่นตัวในเรื่องนี้และได้เริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้วนั้นมีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีแผนงานที่เด่นชัดเห็นจะเป็นเหล่านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ  อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะที่เริ่มโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2,000-3,000 หลังคา กำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์เมื่อกลางปี 2560 และคาดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี อีกทั้ง ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ที่เริ่มโครงการโซลาร์รูฟท็อปนำร่องแล้ว 1 โครงการ กำลังผลิต 0.9 เมกะวัตต์ในปลายปี 2560 และมีแผนขยายคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของ WHA ในนิคมฯ ทั้ง 9 แห่งต่อไปในอนาคต

นอกจากกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ปลุกกระแสโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยแล้ว ห้างสรรพสินค้าอย่างโฮมโปรและโรบินสันก็ต่างติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันไปมากแล้วเช่นกัน โดยปัจจุบันห้างโฮมโปรมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้วกว่า 36 สาขา ในขณะที่ห้างโรบินสันมีการติดตั้งแล้วใน 3 สาขา โดยผู้ประกอบการทั้งสองมีแผนที่จะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในสาขาเดิมและสาขาที่จะเปิดใหม่ทั่วประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้าต่างเริ่มให้ความสำคัญกับการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาของที่อยู่อาศัย ดังที่เราจะได้เห็นตัวอย่างจากความร่วมมือระหว่างบริษัทบีซีพีจี (BCPG) และบริษัทแสนสิริ ในการพัฒนาโซลาร์รูฟท็อปราว 30-50 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยการซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet of Energy) โดยใช้ Blockchain Technology มาบริหารจัดการ ซึ่งจะนับเป็นการพลิกโฉมใหม่ของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเลยทีเดียว

ในปัจจุบัน พลังงานแสงอาทิตย์คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในขณะที่กว่าร้อยละ 95 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้นมาจากโซลาร์ฟาร์มแบบติดตั้งบนพื้นดิน แต่ด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการไทยรวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ประกอบกับความร่วมมือของภาครัฐที่มีแนวโน้มในการดำเนินโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีในเร็ววันนี้ เราจึงเชื่อมั่นได้ว่าสัดส่วนของไฟฟ้าที่มาจากหลังคาอาคารบ้านเรือนต่างๆจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไม่ช้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานแบบเก่าและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย