ฟินเทคคืออะไร ทำไมนักลงทุนควรสนใจ

ฟินเทคคืออะไร ทำไมนักลงทุนควรสนใจ

โดย…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

หากเป็นคนที่อยู่ในวงการการเงิน หรือเทคโนโลยี หรือไม่ได้อยู่ในวงการเหล่านี้แต่เกาะติดกระแสโลกดิจิทัลเป็นอย่างดี คงจะเคยได้ยินคำว่า “ฟินเทค” กันมาบ้าง วันนี้ เราจะมาเล่าเรื่องราวของ ฟินเทค ให้ทุกท่านได้รับทราบกันว่า ฟินเทคคืออะไร แล้วทำไมนักลงทุนควรสนใจ

ฟินเทค หรือที่เขียนในภาษาอังกฤษว่า FinTech ย่อมาจาก Finance + Technology แปลตรงตัวแล้วฟินเทคก็คือ เทคโนโลยีทางการเงินนั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยมีหัวใจสำคัญคือต้องการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงบริการทางการเงินสำหรับผู้บริโภคให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้สึกสะดวกสบาย เข้าถึงบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับฟินเทคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เห็นชัดเจนที่สุดในเมืองไทย ก็คงเป็น “QR Code พร้อมเพย์” ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ที่ทำให้เราสามารถโอนหรือจ่ายเงินได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนสแกน QR Code เท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นฟินเทคอย่างหนึ่ง ที่คนไทยเราใช้กันจนคุ้นเคยไปแล้ว

หรือจะเป็น บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ที่มีให้เลือกหลายยี่ห้อมากในปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นโซเชียลมีเดียชื่อดังจัดทำขึ้น ค่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่จัดทำ บริษัทค้าปลีกให้บริการ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาใช้จ่ายเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดมากขึ้น โดยสามารถเชื่อมโยง E-Wallet กับบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือบัตรเครดิตเพื่อเติมเงินเข้ามาได้ สิ่งนี้ก็คือ ฟินเทค ที่เราได้สัมผัสกันทุกวัน

เหล่านี้เป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ ของสิ่งที่เรียกว่าฟินเทคเท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ บริการ รวมถึงเครื่องมือสำหรับระบบหลังบ้านในภาคการเงินอีกหลายอย่างที่เรียกว่าฟินเทค เช่น บล็อคเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายการบันทึกและติดตามข้อมูลแบบสาธารณะ คือ ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่กระจายตัวอยู่ตามเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมาก โดยที่เครือข่ายเหล่านี้ไม่รู้หรอกว่าข้อมูลที่บันทึกเป็นข้อมูลของใคร เพราะข้อมูลถูกกระจายออกมาปกปิดตัวตนของเจ้าของข้อมูล

นึกภาพง่ายๆ เกี่ยวกับการทำงานของบล็อคเชน สมมติว่า มีธุรกรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น บล็อคเชนจะบันทึกธุรกรรมนั้นไว้ในพื้นที่หนึ่งใส่รหัสไว้เป็นอย่างดี จากนั้นข้อมูลการบันทึกนี้จะถูกส่งให้ทั้งเครือข่ายดู โดยเครือข่ายอาจจะไม่รู้หรอกว่าคนชื่ออะไรทำธุรกรรม แต่สิ่งที่เครือข่ายรู้คือ รายละเอียดทุกอย่างในธุรกรรมนี้ถูกต้องไหม มีส่วนใดที่ผิดเพี้ยนไปหรือเปล่า เหมือนๆ การจับผิดจุดแตกต่างในภาพคล้าย ถ้าดูแล้วเห็นทุกอย่างตรงกันทั้งเครือข่าย จึงจะยืนยันการทำธุรกรรม ซึ่งข้อดีของบล็อคเชนที่ทำงานแบบนี้ คือ มีความปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น เพราะข้อมูลไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครหรือระบบใดตรวจสอบเพียงที่เดียว แต่มีหลายๆ ส่วนช่วยตรวจสอบ

มาถึงตรงนี้ ทุกคนก็คงจะพอทราบแล้วว่า ชีวิตเราคงหนีฟินเทคไปไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เรามีโอกาสต้องใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าวันนี้ยังไม่ได้ใช้ วันหน้าก็อาจจะต้องใช้ ยิ่งในอนาคตเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะรวดเร็วขึ้น สถาบันการเงินดั้งเดิมก็หันมารุกพัฒนาบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุน และเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ ขณะที่ภาครัฐเองก็พร้อมสนับสนุนการใช้ฟินเทค เพื่อให้ผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงิน ด้วยเหตุผลจากการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสถาบันการเงิน เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพียงมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ฟินเทคจึงถือเป็นหนึ่งเมกะเทรนด์ที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ เพราะมีแนวโน้มเติบโตระยะยาว เหมาะที่จะหยิบมาเป็น Theme ทางเลือกหนึ่ง สำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะผู้ที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนได้

มีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟินเทค ที่เราอยากจะนำมาบอกเล่าให้ทุกคนได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ฟินเทคเป็นเมกะเทรนด์ ที่น่าสนใจลงทุนจริงๆ ข้อมูลเหล่านี้มาจาก BlackRock บริษัทจัดการกองทุนยักษ์ใหญ่ของโลก โดย BlackRock เผยว่า ฟินเทคนั้นเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ โดยพบว่า ในปี 2015 ทั่วโลกมีการประยุกต์ใช้ฟินเทคแค่ 16% เท่านั้น แต่ผ่านไปเพียง 4 ปี ตัวเลขนี้ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 64% ในปี 2019

ส่วนการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก โดยคาดว่าในปี 2030 สัดส่วนการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะสูงถึง 80% ของการชำระเงินโดยรวม เพิ่มจากในปี 2015 ซึ่งเคยมีสัดส่วน 52% ขณะที่ ผู้ใช้ธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีสูงถึง 2,400 ล้านคน ขยับเพิ่มจากเมื่อปี 2014 ที่เคยมีเพียง 800 ล้านคน และตัวเลขนี้จะเติบโตขึ้นไปอีกเป็น 3,600 ล้านคน ในปี 2024

นอกจากนี้ หากจะแบ่งประเภทฟินเทค ที่น่าสนใจลงทุน ก็คงไม่ได้มีแค่เรื่องการชำระเงินดิจิทัลเท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการประเภทอื่นที่น่าสนใจอีก เช่น บริการธนาคารดิจิทัล แพลตฟอร์มการให้บริการสินเชื่อ แพลตฟอร์มการลงทุนดิจิทัล เทคโนโลยีสำหรับการประกันภัย และบริการซอฟต์แวร์หรือโซลูชันที่บริษัทภายนอกจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบหลังบ้านของบริษัทหรือสถาบันการเงิน เพื่อพัฒนาบริการทางการเงิน

จากความน่าสนใจของฟินเทคนี่เอง ล่าสุด กองทุนบัวหลวง จึงเปิดตัวกองทุนน้องใหม่ กองทุนเปิดบัวหลวงฟินเทค (B-FINTECH) ลงทุนในอุตสาหกรรมฟินเทค โดยจะเสนอขาย IPO วันที่ 10-16 มิ.ย. นี้ หากนักลงทุนก็เล็งเห็นว่า ฟินเทคเป็นเมกะเทรนด์ที่มีแนวโน้มเติบโตระยะยาว และตัวเองก็สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน เคยมีประสบการณ์ในการลงทุนกองทุนต่างประเทศมาแล้ว ก็สามารถจัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาลงทุนในกองทุนนี้ได้

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน