อาเซียน วัคซีนโควิด และแผนการเปิดประเทศ

อาเซียน วัคซีนโควิด และแผนการเปิดประเทศ

หทัยภัทร ลิมป์บรรเจิด

กองทุนบัวหลวง

 

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ การพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง มองย้อนกลับไปในปี 2562 กัมพูชา เวียดนาม และไทย มีอัตราส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 18 12 และ 11 ตามลำดับ จนกระทั่งในปี 2563 ที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ รายได้จากการท่องเที่ยวของกัมพูชาและไทย ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 79 และ 83 เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนเวียดนาม ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ท่องเที่ยวรายปีออกมา แต่ทว่าก็ได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกเช่นเดียวกัน ในด้านของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งล้วนมีรายได้จากการส่งออกที่ลดลง ส่วนประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต ได้แก่ เวียดนาม และกัมพูชา ยังคงมีรายได้จากการส่งออกที่เติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ในแง่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลายประเทศเล็งเห็นตรงกันว่า การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นถึงกลาง หากอ้างอิงตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ถ้าประชากรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบร้อยละ 60-70 จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนให้กลับเข้าสู่สภาวะใกล้เคียงเดิมมากที่สุด  เมื่อพิจารณาจากจากตัวเลขการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดประเทศที่มีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสต่อประชากรสูงที่สุด คือ สิงคโปร์ อยู่ที่ร้อยละ 37  ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาค ล้วนมีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสต่อประชากรที่ต่ำกว่าร้อยละ 10

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปริมาณการได้รับจัดสรรวัคซีน ประเทศที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในปริมาณมากที่สุด คือ อินโดเซีย ที่ 419 ล้านโดส จากทั้ง Sinovac, Pfizer-BioNTech, AstraZeneca และ Sinopharm ส่วนประเทศที่ได้รับจัดสรรจำนวนวัคซีนรองลงมาคือ เวียดนาม ที่ประกาศปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรรที่ 99 ล้านโดส และยังคงตั้งเป้าหมายที่จะผลิตและนำเข้าวัคซีนให้ได้จำนวน 150 ล้านโดสภายในสิ้นปี แม้ปัจจุบัน เวียดนามจะมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรที่ต่ำสุดในภูมิภาคก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก Sinovac และ AstraZeneca ที่ 65 ล้านโดส แต่รัฐบาลก็ตั้งเป้าการเพิ่มปริมาณการนำเข้าวัคซีนภายในสิ้นปีที่ 100 ล้านโดส จากทั้ง Pfizer-BioNTech, Sputnik V และ Johnson & Johnson

สำหรับความเสี่ยงที่อาจทำให้เห็นแผนการเปิดประเทศล่าช้ากว่ากำหนด ได้แก่ การระบาดของไวรัสโควิด- 19 ที่กลายพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรต่ำ ที่อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการปิดเมืองหรือมาตรการคุมเข้มต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อทั้งการบริโภคภายในประเทศ อัตราการผลิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคได้

รัฐบาลในทุกประเทศจึงเร่งการเฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรในประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับแผนการเปิดประเทศในช่วงต้นปีหน้า หลายประเทศได้เริ่มวางแผนรับมือการเปิดประเทศ โดยใช้โมเดลการเปิดเฉพาะเมือง เช่น อินโดนีเซีย ที่เร่งการจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่เกาะบาหลี เพื่อเตรียมแผนรับมือการเปิดรับนักท่องเที่ยวในเดือนก.ค.นี้ รวมถึงไทยเอง ที่ใช้จังหวัดภูเก็ตเป็น Sandbox Model สำหรับการทดลองเปิดประเทศในช่วงเดือนเดียวกัน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางแผนการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 12-18 ปี ก่อนที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นเดือน ส.ค. นี้ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกับมาดำเนินการต่อได้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ภาวะที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด