Fund Comment มิถุนายน 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มิถุนายน 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน มิ.ย. 2564 มีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าตั้งแต่ช่วงอายุคงเหลือ 2 ปีขึ้นไป และปรับตัวลดลงค่อนข้างมากถึง -13 ถึง -22 bpsในช่วงอายุคงเหลือ 4-9 ปี โดยมีปัจจัยหลักจากการที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และยังไม่มีการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนระยะสั้นจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง นักลงทุนจึงมีการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วง 4-5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าช่วง 3 ปีค่อนข้างมาก และมีการไล่ซื้อไปจนถึงช่วงอายุ 9 ปี

ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์ด้านอัตราผลตอบแทนกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก มีความต้องการซื้อน้อยกว่าช่วงอายุก่อนหน้า เนื่องจากตลาดยังติดตามสัญญาณการสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินและผ่อนคลายของ Fed ในปี 2022 และยังคงแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.78% ปรับลดลง 7 bps ณ สิ้นเดือน มิ.ย.

แนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ถึงแม้ในระยะยาวจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน เช่น Manufacturing & Services PMI, Initial Jobless Claim และยอด Retail Sales ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่ระดับ 3.39% yoy ในเดือน พ.ค. ตลาดจึงเริ่มมีการคาดการณ์ถึงการปรับลดวงเงิน QE รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันด้านอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่ยังคงติดลบ

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นตลาดเริ่มตอบรับแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงไปค่อนข้างมากแล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่จะเริ่มลดลง นักลงทุนจึงมีการลดสถานะการขายพันธบัตรล่วงหน้าและกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในเดือนที่ผ่านมา FOMC ยังคงเน้นย้ำถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในระดับอย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเช่นเดิม แบ่งเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์ จนกว่าจะมีการจ้างงานเต็มประสิทธิภาพ และอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเกินระดับ 2% พอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่ง dot-plot จากการประชุมครั้งล่าสุดพยากรณ์ว่าจะเริ่มมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในปี 2566  ดังนั้น จึงคาดว่าในระยะสั้นการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวในช่วงแคบ

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่าแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากแนวโน้มที่คาดว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไป โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดวันที่ 23 มิ.ย. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย กนง. ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้จากความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 และปรับลดคาดการณ์จีดีพีมาอยู่ที่ 1.8% ในปีนี้ และ 4.9% ในปี 2656 ส่งผลให้โอกาสที่อัตราผลตอบแทนในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นห่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว คาดว่าจะมีปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบ จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทและกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลออก รวมถึงพรก. ฉบับล่าสุด ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของ Covid-19 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องติดตามว่าทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะจะจัดหาแหล่งเงินกู้ต่างๆ ในสัดส่วนอย่างไร และจะส่งผลให้มีปริมาณการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์การยุตินโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายว่าจะมีผลเมื่อใด