กองทุนเปิดบัวหลวงมันนี่มาร์เก็ตเพื่อการเลี้ยงชีพ (MM-RMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงมันนี่มาร์เก็ตเพื่อการเลี้ยงชีพ (MM-RMF)

ภาพรวมตลาด

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมในวันที่ 27 – 28 ก.ค. โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0 – 0.25% และระบุเช่นเดิมว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มศักยภาพและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ ยังคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน พร้อมทั้งระบุว่าจะเข้าซื้อไปจนกว่าจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่าการจ้างงานจะกลับเข้าสู่ระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นการจ้างงานเต็มศักยภาพและเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับที่นายเจอโรม พาวเวล ประธาน Fed กล่าวในแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันที่ 15 ก.ค. ว่า Fed จะยังคงเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากการเปิดเศรษฐกิจและจะปรับตัวลดลงเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ อีกทั้งตลาดแรงงานยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของ Fed

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยรายงานการทบทวนนโยบายการเงินในวันที่ 8 ก.ค. ซึ่ง ECB เปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อเป็น 2% แต่สามารถอยู่เหนือระดับดังกล่าวได้เป็นการชั่วคราว จากเป้าหมายเดิมที่ระบุไว้ว่าต่ำกว่าแต่ใกล้ 2% สะท้อนถึงนโยบายการเงินที่จะมีความผ่อนคลายเป็นระยะเวลานาน ส่วนการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 22 ก.ค. ECB มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิม ประกอบด้วย Deposit Facility Rate ที่ -0.50% Main Refinancing Rate ที่ 0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% และระบุว่าจะคงอยู่ที่ระดับนี้หรือต่ำกว่าจนกว่าจะเห็นเงินเฟ้อขยายตัวได้ตามเป้าหมายของ ECB นอกจากนี้ ECB ยังมีมติคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ PEPP ตามเดิมที่ 1.85 ล้านล้านยูโร และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติ (APP) ไว้ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน รวมทั้ง ยังคงเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ผ่านโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะ TLTRO-3 ที่จะดำเนินการจนถึงเดือน มิ.ย. 2022

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมในวันที่ 15 – 16 ก.ค. โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ประมาณ 0% นอกจากนี้ ยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs สูงสุดต่อปีที่ 12 ล้านล้านเยน และ 180 พันล้านเยน ตามลำดับ คงระยะเวลาการเข้าซื้อ Commercial Paper และ Corporate Bond รวมกันต่อปีที่ 20 ล้านล้านเยน จนถึงเดือน มี.ค. 2022 และคงระยะเวลาโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยที่ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงิน 90 ล้านล้านเยนจนถึงเดือน มี.ค. 2022 นอกจากนี้ BoJ ได้เปิดเผยโครงการเงินให้กู้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อในกับธุรกิจและการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% ระยะเวลา 1 ปี แต่สามารถ Refinance ได้ไม่จำกัดตลอดอายุโครงการซึ่งจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2030

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่เกิน +2 bps. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงในช่วง -1 ถึง -29bps. โดยเป็นการปรับลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ เป็นหลัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta รวมถึงการลดลงของราคาน้ำมันดิบซึ่งทำให้ความกังวลด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ปริมาณวัคซีนและอัตราเร่งในการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ Delta และมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

ด้านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ประกาศแผนการก่อหนี้เพิ่มเติมสำหรับปีงบประมาณนี้ จำนวน 1.50 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้จะเป็นการก่อหนี้โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล (Loan bond) จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าการออกพันธบัตรในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 1.81 แสนล้านบาท เป็น 2.31 แสนล้านบาท ทั้งนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่าเมื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้แล้ว สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 58.88% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการจัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% โดยกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์ GDP ลงเหลือ +0.7% ในปีนี้ และ +3.7% ในปีหน้า ซึ่งลดลงจากคาดการณ์เดิมในการประชุมเดือน มิ.ย. ที่ +1.8% ในปีนี้ และ +3.9% ในปีหน้า โดยปรับลดลงตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า

มุมมองด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

กองทุนบัวหลวงคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปีนี้ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบางและจะมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายที่ตรงจุดมากกว่า แต่อาจมีการปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 2 ปี จะทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงคาดว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ในช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้จำกัดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ มีปัจจัยที่จะต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม Jackson Hole Symposium ในวันที่ 26 – 28 ส.ค. ซึ่งเป็นการประชุมที่ Fed มักใช้สื่อสารกับสาธารณะในช่วงเวลาที่จะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงิน โดยคาดว่ามีโอกาสที่ Fed จะส่งสัญญาณเบื้องต้นถึงการลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ในการประชุมนี้

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศ แผนการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีน และมาตการต่าง ๆ ของภาครัฐ

ด้านตราสารหนี้ต่างประเทศ

บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ระยะยาวได้ปรับลดลงมาค่อนข้างมาก โดยล่าสุดอยู่ในกรอบประมาณ 1.3 –  1.4% ซึ่งคาดว่าผลตอบแทนระยะยาวอาจปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง  หลังการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงต่ำสุดรอบ 10 ปี ขณะที่ Fed ได้มีการเริ่มพิจารณาการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ (QE) และแนวโน้มการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศหลักๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและยังคงเป็นปัจจัยบวกในระยะถัดไป  ขณะที่ผู้บริโภคมีความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและการจ้างงาน รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า

ปัจจัยบวก/ลบต่อกองทุน

(+) เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า/เงินเฟ้อต่ำ/ธปท. ดำเนินนโยบายผ่อนคลาย
(+) การระบาดระลอกสามของ COVID-19/การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า/ความไม่แน่นอนทางการเมือง/
(+) ตราสารหนี้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจและผลการดําเนินงานของผู้ออกตราสารทีมีแนวโน้มดีขึ้น
(-) อุปทานพันธบัตรมีแนวโน้มสูงขึ้นในไตรมาส 4/2564 จากการใช้มาตรการงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มขึ้น
(-) คาดการณ์การเริ่มเจรจาลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบของ Fed ช่วงครึ่งหลังของปี 2564
(-) เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเพราะลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ต่างประเทศ
(-) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
(-) แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า / ต่างประเทศขายออกเพื่อทำกำไร
(-) เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่มากขึ้น ล่าสุด ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 0.7% จาก 1.8%

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท USD/THB

ค่าเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 ส.ค. 2564 ปิดที่ระดับ 33.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี และนับจากสิ้นปีค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแล้วประมาณ 10.21% ซึ่งอ่อนค่าที่สุดของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินในช่วง 1 – 2 ดือนที่ผ่านมา

กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลตอบแทนในระยะสั้นถึงระยะปานกลางให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงดัชนีชี้วัดที่กำหนด โดยเน้นการคัดเลือกตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนเหมาะสม

  • ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนมองไปข้างหน้า 1 ปี หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ราว 0.55 – 0.95% ต่อปี
  • Portfolio Duration (ตราสารที่กองทุนถือครองมีอายุเฉลี่ย) 0.16 ปี ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค. 2564

ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 30 ก.ค. 2564

สัดส่วนการลงทุน (% ของมูลค่าทรัพย์สิน ข้อมูล ณ 30 ก.ค. 2564)

Disclaimer: เอกสารนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทฯ อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้มีวัตถุประสงค์ชักชวน ชี้นำ ให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน หรือการตัดสินใจในทางธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณจากการใช้ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของเอกสารฉบับนี้ ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต