จัดเงินในกระเป๋าง่ายๆ  โดยใช้หลัก “เงิน 3 ก้อน” (ตอนจบ)

จัดเงินในกระเป๋าง่ายๆ  โดยใช้หลัก “เงิน 3 ก้อน” (ตอนจบ)

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

ภายหลังการจัดระเบียบเงินใช้จ่ายประจำวันก้อนที่ 1 และเตรียมเงินสำรองยามฉุกเฉินก้อนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นคราวของ เงินก้อนที่ 3 เงินลงทุนตามเป้าหมาย การจัดการเงินก้อนนี้แบบง่ายๆ ก็คือให้จัดแบ่งตามระยะเวลาตามเป้าหมายการใช้เงินเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  โดยระยะสั้น คือการลงทุนที่มีเป้าหมายต้องใช้เงินนั้นภายในไม่เกิน 3ปี  เป้าหมายระยะกลาง คือแผนจะใช้เงินภายใน 3-7 ปี เช่นเป้าหมายการเงินเตรียมเรียนต่อ ท่องเที่ยว ดาวน์รถ ดาวน์บ้าน แต่งงาน  เตรียมปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น

การลงทุนสำหรับเป้าหมายระยะสั้น โดยเฉพาะเงินที่ต้องใช้ภายใน 1ปี ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ไม่ควรลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น เพราะมูลค่าจะมีความผันผวน  การเก็บเงินหรือลงทุนควรใช้กองทุนตราสารหนี้หรือการฝากบัญชีธนาคาร เนื่องจากผันผวนต่ำ

การลงทุนสำหรับเป้าหมายระยะกลาง ควรเป็นการลงทุนผสมผสานทั้งตราสารหนี้และหุ้นในระดับที่พอเหมาะ แม้จะมีระยะเวลาที่ยาวขึ้น  เช่น นาน 5 ปี 7 ปี  จนหลายคนคิดว่านานพอและน่าจะลงทุนในหุ้นได้ในสัดส่วนที่สูง แต่อย่าลืมว่าเวลาเดินอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายระยะกลางเมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นได้เร็วมาก จึงควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นสำหรับเป้าหมายระยะกลาง โดยกำหนดสัดส่วนที่พอเหมาะ และปรับลดสัดส่วนลงเมื่อเวลาลดลง และเมื่อกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นตามเวลาที่ลดลง

เป้าหมายระยะยาว เช่น แผนเตรียมเกษียณ ที่มีระยะเวลายาวนานเกิน 7 ปี ขึ้นไป  สามารถจัดสรรการลงทุนให้ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ในสัดส่วนที่สูง  แนวคิดสำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นสำหรับเป้าหมายระยะยาวก็คือ เมื่อมีระยะเวลานานพอ การลงทุนก็ควรทำให้ได้ประโยชน์เต็มที่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ การลงทุนในหุ้นที่นานพอ ระยะเวลาจะช่วยลดความผันผวนระหว่างทางได้เป็นอย่างดี  เพื่อให้มีโอกาสรับผลตอบแทนโดยรวมที่สูง ทำให้การบรรลุเป้าหมายการลงทุนเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

เทคนิคสำหรับการลงทุนระยะยาวที่ควรทำก็คือ การจัดสรรรายได้ที่เข้ามาไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะสมให้พอกพูน ทั้งเงินลงทุน และผลประโยชน์ วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือการลงทุนอย่างถัวเฉลี่ย หรือ Dollar Cost Averaging หรือ DCA ที่เดี๋ยวนี้สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง จะตัดผ่านระบบธนาคาร หรือระบบของกองทุนรวม หรือแม้แต่ออมหุ้นรายเดือนก็สามารถทำได้ โดยแนะนำให้เลือกผูกตัดเงินกับบัญชีเงินเดือน โดยเลือกลงทุนช่วงต้นเดือนหลังได้รับเงินเดือน หรือช่วงใดของเดือนก็ได้ ผมเคยทดลองทำข้อมูลแล้วพบว่าการเลือกช่วงเวลาลงทุน ต้นเดือน กลางเดือน หรือปลายเดือน ในระยะยาวแล้วไม่มีผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด