บริการส่งอาหารทั่วโลกมูลค่าแตะ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนุนเกิด 8 ธุรกิจใหม่ล้อกระแส

บริการส่งอาหารทั่วโลกมูลค่าแตะ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนุนเกิด 8 ธุรกิจใหม่ล้อกระแส

McKinsey เผยแพร่บทความว่า การรับประทานอาหารบนโลกกำลังเปลี่ยนไป 20 ปีก่อน การจัดส่งอาหารคุณภาพระดับภัตตาคารยังจำกัดเฉพาะ เช่น พิซซ่า และอาหารจีน แต่วันนี้การส่งอาหารทั่วโลกกำลังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มกว่า 3 เท่าตัว นับจากปี 2017 โดยสหรัฐฯ มีตลาดขนาดใหญ่ขึ้น 2 เท่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากปกติที่เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี

แอปพลิเคชันที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน และเครือข่ายผู้ขับขี่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เป็นตัวเปลี่ยนความคาดหวังของผู้บริโภค ปลดล๊อคการส่งอาหารพร้อมทาน การปิดเมืองและข้อเรียกร้องให้รักษาระยะห่างทางสังคมช่วงแพร่ระบาดทำให้หมวดหมู่อาหารที่บริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นมาก การส่งอาหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของความอยู่รอดของร้านอาหาร

McKinsey มองว่า บริการแอปส่งอาหารช่วยสร้างโอกาสใหม่และรายได้ให้กลุ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่ 1.Menu engineering ทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าเมนูไหนนิยมหรือขายไม่ได้ เมนูไหนกำไรต่ำหรือกำไรสูง เพื่อบริหารจัดการร้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.Dark kitchens กลุ่มที่ไม่มีหน้าร้านเป็นครัวที่เปิดรับเฉพาะเมนูส่งอาหาร กลุ่มนี้ช่วยให้ร้านอาหารที่เปิดอยู่แล้วขยายบริการตัวเองได้โดยมีความเสี่ยงน้อยลง เพราะอาศัย Dark kitchens ทำอาหารส่งผ่านผู้ให้บริการ

  1. Virtual brands เป็นการสร้างแบรนด์ใหม่ สร้างสรรค์เมนูใหม่ให้เป็นที่รู้จักผ่านออนไลน์ก่อนเมนูเหล่านั้นจะไปนำเสนอผ่านร้านอาหารต่างๆ 4.Brand spin-offs คือมีแบรนด์ร้านอาหารอยู่แล้ว แต่สร้างแบรนด์ใหม่เพื่อเติบโตจากกลุ่มลูกค้าใหม่ 5.Consolidation points จุดรับส่งอาหารเพิ่มความสะดวกให้ทั้งร้านอาหาร ผู้ส่งอาหารและผู้รับอาหาร 6.Virtual concierge ผู้อำนวยความสะดวกบนโลกเสมือน ช่วยผู้บริโภคไปสั่งอาหารหลายอย่างซึ่งต้องรับหลายจุด 7.Tiny restaurants ร้านอาหารที่ขนาดเล็กกะทัดรัดกว่าร้านอาหารทั่วไป 60% เน้นรับลูกค้าที่ซื้ออาหารกลับไปทานเอง และการส่งอาหาร 8.Innovation in customer attraction นวัตกรรมในการดึงดูดลูกค้าต่างๆ