ราคาเป้าหมาย (Target Price) (ตอนที่ 2)

ราคาเป้าหมาย (Target Price) (ตอนที่ 2)

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์

BF Knowledge Center

การประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อใช้เป็นราคาเป้าหมายมีวิธีการที่นิยมใช้ 2 วิธี

  1. วิธีกระแสเงินสด (Discount Cash flow)

วิธีนี้จะประมาณการณ์รายได้ ค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อหากำไรสุทธิ ในอนาคตเป็นเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี  และใช้กระแสเงินสด (ปรับจากตัวเลขกำไรสุทธิ) หรือเงินปันผล ในการคำนวนประกอบกับการใช้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งเป็นการพิจารณาถึงกระแสเงินสด/เงินปันผลที่บริษัทสามารถทำให้ผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว วิธีกระแสเงินมีข้อดีที่เป็นการประเมินบนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการลงทุนซื่งสะท้อนมุมมองในระยะของกิจการ และตีมูลค่าในอนาคตให้กลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน แต่มีข้อเสียที่การคาดการณ์ไปในอนาคตระยะยาว มีโอกาสคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงสูงมาก นักวิเคราะห์ต้องประเมินโดยใช้สมมติฐานต่างๆ มากมาย โดยปัจจัยและตัวแปรที่ใข้มีหลากหลาย หากปัจจัยและสถานะจริงเปลี่ยนไปหรือไม่ตรงกับที่คิดไว้ ตัวเลขที่ประมาณการณ์ไว้จะผิดความจริงไปมาก

  1. วิธีมูลค่าเปรียบเทียบ (Relative valuation)

นักวิเคระห์จะใช้การประเมินผลกำไรของบริษัทใน 1 ปี ข้างหน้า และคูณด้วย ค่า P/E ที่เหมาะสม ได้เป็นราคาเป้าหมายหรือมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม วิธีนี้มีข้อดีกว่าวิธีแรก โดยเป็นการประเมินระยะสั้นจากผลประกอบการที่คาดว่าบริษัทจะทำได้ใน 1 ปีข้างหน้า ไม่ต้องประเมินไปไกลในอนาคต ทำให้มีโอกาสที่จะถูกต้องสูงกว่า แต่มีข้อเสียที่ไม่ได้พิจารณาผลประกอบการในระยะยาวที่บริษัทอาจสร้างกำไรที่เติบโตได้ดีในอนาคต และค่า P/E ที่ใช้คำนวนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนักวิเคราะห์ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว หากเปลี่ยนค่า P/E ที่ใช้จะส่งผลต่อมูลค่าหุ้นที่คำนวนได้ วิธีนี้อาจเหมาะกับบริษัทที่ธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ผลประกอบการขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก การประเมินในระยะยาวมีโอกาสผิดพลาดได้สูง